แนวทางการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในปัจจุบัน

แนวทางการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในปัจจุบัน

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าว ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ

  • ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่จมูก เรียกว่า โรคแพ้อากาศ (โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้)
  • ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ตา เรียกว่า โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้
  • ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่หลอดลม เรียกว่า โรคหืด
  • ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ผิวหนัง เรียกว่า ลมพิษ หรือ ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
  • ถ้าโรคภูมิแพ้ เกิดที่ทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร

จมูกเรามีหน้าที่อื่น นอกเหนือจากความสวยงาม คือหายใจ, รับกลิ่น, ทำให้เสียงก้องกังวาน และรับสารคัดหลั่งจากถุงน้ำตา และไซนัส โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจาก เยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมาก ผิดปกติ โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านที่พบได้บ่อยคือ ฝุ่นในบ้าน, ตัวไร ในฝุ่น, เชื้อราในอากาศ, แมลงสาบ, ยุง, แมลงวัน, มด มีอาการสำคัญคือ คัน จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก

อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ พบได้ประมาณ ร้อยละ 10 - 25 ของจำนวนประชากรทั่วโลกในประเทศไทย อุบัติการณ์ของโรคนี้ ในเด็กวัยเรียน (6 - 7 ปี) หรือ นักเรียน (13 - 14 ปี) ในปี พ.ศ. 2538 พบว่าเป็นโรคนี้ร้อยละ 38 สูงขึ้นกว่าเดิมเกือบ ถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับร้อยละ 23 เมื่อสำรวจในปี พ.ศ. 2518 อุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ (รูปที่ 1) โดยเฉพาะในตัวเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ในเด็กจะพบโรคนี้ในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง แต่ในผู้ใหญ่จะพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย โรคนี้มักจะเริ่มแสดงอาการในวัยเรียน หรือวัยรุ่น อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ร้อยละ 23.7 ในปี ค.ศ. 1975 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 50.4 ในปี ค.ศ. 2001

สาเหตุที่ทำให้อุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

  • มลพิษในอากาศ ทำให้มีสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น
  • การอยู่ในที่ร่ม ทำให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอาคารมากขึ้น ทำให้อาการเป็นนานขึ้น
  • มีสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่มากขึ้น และมีหลากหลายชนิดขึ้น ทำให้อาการเป็นบ่อยขึ้น
  • วิถึชีวิตที่เคร่งเครียด สามารถกระตุ้นระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเพิ่มขึ้น

มลพิษในอากาศ ก็ทำให้อุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย

  • กระตุ้นเยื่อบุจมูกโดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก และการบวมตามมา ซึ่งอาจไปอุดรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูก ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ
  • เยื่อบุจมูกถูกทำลาย การทำงานของขนกวัดที่เยื่อบุจมูก เสียหน้าที่ไป ทำให้เยื่อบุจมูกมีความไว และเกิดการอักเสบมากยิ่งขึ้น
  • ยับยั้งการทำงานของ ทีเซลล์ ที่ทำหน้าที่กดภูมิคุ้มกัน
  • กระตุ้นการทำงานของ ทีเซลล์ ที่ทำหน้าที่เพิ่มภูมิคุ้มกัน มีการสร้างสารคัดหลั่งที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดปฏิกิริยาของภูมิแพ้มากขึ้น

มลพิษในอาคาร และบ้าน ทำให้อุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมลภาวะภายในบ้านมีมากกว่ามลภาวะภายนอกถึง 2-5 เท่า นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มีผลต่อสารก่อภูมิแพ้ภายนอกที่พักอาศัย เช่น ละอองเกสร สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ให้มากขึ้นได้ การทำกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ทำให้มีระดับของก๊าซ CO2 ในบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศโดยทำให้โลกร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และการออกดอกของต้นไม้ต่างๆ เช่น มีการผลิตของละอองเกสรเพิ่มมากขึ้น ต้นไม้ต่างๆโตเร็วขึ้น และโตเต็มที่ก่อนกำหนด และมีความสามารถในการก่อปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ของละอองเกสรเพิ่มขึ้นด้วย ต้นไม้เองมีการออกดอกเร็วขึ้น และมีระยะเวลาในการผลิตละอองเกสรนานขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มีผลต่อสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวนี้ จะทำให้คนปกติ มีโอกาสสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น เกิดการกระตุ้นเยื่อบุจมูกมากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก ทำให้มีโอกาสแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นได้ในอนาคต และทำให้อุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อยู่แล้ว มีอาการมากขึ้นได้

จากสถิติของคลินิกโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่า ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ทั้งหมด 217 ราย ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูกมากที่สุด (ร้อยละ 77.3) รองลงมาคือ อาการน้ำมูกไหล (ร้อยละ 63.2), อาการจาม (ร้อยละ 56.2) และอาการคันจมูก (ร้อยละ 54.7)

ความสำคัญของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ คือทำให้คุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการเข้าสังคมแย่ลง เมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป การที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ผนังคออักเสบ หรือเจ็บคอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ หรือไอเรื้อรัง ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้อาการหอบหืด (ถ้ามี) เป็นมากขึ้นได้ หรือทำให้เป็นโรคหืด การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย

ปัจจุบันโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่เป็นทั้งระบบของร่างกาย (systemic disease) คือ มีโอกาสที่จะมีโรคร่วมชนิดต่างๆ ได้มาก เช่น โรคหืด, ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้, เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้, หูชั้นกลางอักเสบ มีน้ำขัง, แพ้อาหาร, ริดสีดวงจมูก

ชนิดของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ คณะทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอการแบ่งชนิดของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. Intermittent (อาการเป็นช่วงๆ) หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการเป็นบางครั้ง โดยมีอาการน้อยกว่า 4 วันต่อ 1 สัปดาห์ หรือ มีอาการติดต่อกันน้อยกว่า 4 สัปดาห์
  2. Persistent (อาการเป็นคงที่) หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการตลอดเวลา โดยมี อาการมากกว่า 4 วันต่อ 1 สัปดาห์ และ มีอาการติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์

คณะทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้อาการทางคลินิก ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 2 ระดับคือ

  1. อาการน้อย (mild)
  2. อาการปานกลางถึงมาก (moderate to severe)

ชนิดและความรุนแรงของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้แสดงใน รูปที่ 2

สาเหตุของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เกิดจากหลายสาเหตุ พอแบ่งสาเหตุหลักได้ 3 ประเภท

  1. ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ เรื่องของพันธุกรรม
    - ถ้าพ่อ หรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ ร้อยละ 25
    - ถ้าทั้งพ่อ และแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ ร้อยละ 50
    - ถ้าทั้งพ่อ และแม่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ ร้อยละ 75
    - แม้ว่าพ่อ และแม่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้เลย ลูกก็มีโอกาสเป็น ร้อยละ 13
  2. ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุโดยตรง ได้แก่ สิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ หรือสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกาย โดยการหายใจ, การรับประทาน และการสัมผัส สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยการหายใจ เช่น
    - ฝุ่นบ้าน ตัวไรในฝุ่นบ้าน
    - ชิ้นส่วน หรือสิ่งขับถ่ายของแมลง ที่อาศัยอยู่ในบ้าน เช่น มด แมลงสาบ ยุง แมลงวัน
    - ขน และรังแคของสัตว์เลี้ยง
    - ละอองเกสรหญ้า วัชพืช และดอกไม้ทุกชนิด
    - เชื้อราในอากาศ
    - สารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ฝุ่นผ้า สารเคมี
  3. เหตุเสริมที่ทำให้แสดงอาการออกมา หรือมีอาการมากขึ้นได้ ได้แก่
    - โรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
    - สารระคายเคืองต่างๆ และ มลพิษทางอากาศ เช่น กลิ่นฉุน ควันต่างๆ ฝุ่นละอองทุกประเภท
    - การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิ เช่น ร้อนจัด หรือเย็นจัด
    - ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น เครียด วิตกกังวล
    - สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เช่น อ่อนเพลียจากการทำงานหนัก นอนดึก อดนอน ขาดการออกกำลังกาย

กลไกการเกิดอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เมื่อผู้ป่วยรับสารก่อภูมิแพ้ เข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง IgE ขึ้นมาในปริมาณน้อย ร่างกายยังไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงยังไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง IgE เพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะไวต่อสิ่งกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หลายๆ ครั้ง ร่างกายก็จะสร้าง IgE เพิ่มมากขึ้นไปอีก จนร่างกายไวมากต่อสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการของโรคภูมิแพ้มาก

IgE ที่ร่างกายสร้างขึ้นจะไปจับกับมาสต์เซลล์ (mast cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ และเมื่อสารก่อภูมิแพ้ไปจับกับ IgE ที่อยู่บนมาสต์เซลล์ จะมีการปล่อยสารฮิสทามีน (histamine) ออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่างๆ เช่น ฮิสทามีนไปกระตุ้นที่

  • จมูก ทำให้มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก
  • ผิวหนัง ทำให้มีผื่นขึ้น, คัน, เป็นลมพิษ
  • ตา ทำให้มีอาการคันตา, เคืองตา, แสบตา, น้ำตาไหล, ตาแดง
  • ปอดและหลอดลม ทำให้หลอดลมหดเกร็ง, หอบ, ไอ, มีเสมหะ
  • ต่อมหลั่งเมือก ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของน้ำมูก, เสมหะ

อาการต่างๆของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่ คันจมูก, จามติดๆ กันหลายครั้ง, น้ำมูกใสๆ, คัดจมูก, คันที่ตา คอ หู หรือที่เพดานปาก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ, เสียงเปลี่ยน, จมูกไม่ได้กลิ่น, น้ำมูกไหลลงคอ, หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู, คล้ายกับ มีก้อน หรือมีอะไรติดๆ ในคอ, เจ็บคอเรื้อรังนอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจมาพบแพทย์ หรือเภสัชกรด้วยอาการอื่นๆที่อาจไม่ใช่อาการที่เป็นแบบฉบับ (typical symptoms) ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่

  • รู้สึกหอบเหนื่อยง่าย ลำบากในการหายใจ หายใจไม่สุด หรือหายใจไม่ทั่วท้อง
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • ไอเรื้อรัง, มีเสมหะในคอ หรือ กระแอมไอบ่อย หรือรู้สึกว่ามีอะไรติดๆ อยู่ในลำคอได้
  • มีกลิ่นปากแรง คอแห้ง และเจ็บคอเรื้อรัง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • เพลียง่าย หรือหลับง่ายในเวลากลางวัน
  • เยื่อบุริมฝีปาก หรือมุมปากอักเสบเรื้อรัง
  • การอักเสบของผิวหนังรอบๆดวงตา จากการขยี้ตาบ่อยๆ หรืออาจมีรอยคล้ำรอบดวงตาได้
  • มีอาการผิดปกติทางหู และระบบประสาททรงตัว

อาการแสดงของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้น ในรายที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นอยู่นาน เด็กต้องหายใจทางปาก เสมอทำให้

  • ใบหน้าส่วนล่างจะยาวกว่าปกติ
  • เพดานปากจะแคบและโค้งสูง
  • เวลายิ้มจะมองเห็นส่วนของเหงือกที่อยู่เหนือฟันบนได้มาก
  • อาจมีความผิดปกติในการสบฟันร่วมด้วย
  • ในเด็กที่มีอาการคันจมูก เด็กมักจะยกมือขึ้นขยี้ หรือ เสยที่ปลายจมูกบ่อยๆ

การวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ทำเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค, วินิจฉัยโรคอื่น ที่เกิดร่วมด้วย และ วินิจฉัย ผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น การวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาศัย ประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่นการตรวจหาจำนวนเซลล์อีโอสิโนฟิลในเลือด และน้ำมูก, การตรวจหาเซลล์เบโซฟิลและ / หรือ มาสต์เซลล์โดยการขูดเยื่อบุจมูก

ประวัติที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่

  • มีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ นานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
  • อาการดังกล่าว จะเป็นๆ (มีเหตุมากระตุ้น) หายๆ (ไม่มีเหตุมากระตุ้น) และอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเอง หลังหมดเหตุดังกล่าว หรือดีขึ้นหลังได้รับยาแก้แพ้
  • อาจมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ (เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้, โรคแพ้อากาศ, โรคหืด, โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้) ในสมัยเด็ก หรือในปัจจุบัน
  • อาจมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ดังกล่าว [กลุ่มโรคอะโทปี]

นอกจากนั้นการวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาศัยการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่

  • การทดสอบภูมิแพ้ ด้วยวิธีสะกิด และวิธีฉีดเข้าในผิวหนัง
  • การตรวจหาปริมาณ IgE ในเลือด
  • การตรวจหาปริมาณ IgE ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดที่เยื่อบุจมูก
  • การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก
  • การส่งเอ็กซเรย์ไซนัสแบบธรรมดา และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ไซนัส

การส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกนั้น แพทย์ทำเพื่อ

  • วินิจฉัย
  • เก็บหนอง (ถ้ามี) เพื่อส่งเพาะเชื้อ
  • ประเมินว่ามีความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น โครงสร้างของจมูก ผนังกั้นช่องจมูก ที่ผิดปกติ ร่วมด้วยหรือไม่
  • ทำผ่าตัด
  • ประเมินผลหลังการรักษา

แผนภูมิแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้แสดงใน รูปที่ 3

ภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้แก่

  1. การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมอดีนอยด์ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ผนังคออักเสบเรื้อรัง บางรายการติดเชื้ออาจลามไปถึง ทางเดินหายใจส่วนล่างได้
  2. หูชั้นกลางอักเสบ
  3. โรคหืด
  4. ริดสีดวงจมูก
  5. เยื่อบุจมูกอักเสบ เนื่องจากใช้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่นานเกินไปในการรักษาอาการคัดจมูก

การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ประกอบด้วยอธิบายเรื่องโรคนี้ให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวผู้ป่วยเข้าใจ และแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้เหมาะสม เช่น พยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส เมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ ฟันผุ คอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ควรรีบไปหาแพทย์

สิ่งที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศ ควรทราบ

  1. โรคนี้ไม่หายขาด ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ (มีสิ่งกระตุ้น) หายๆ (ไม่มีสิ่งกระตุ้น)
  2. ผู้ป่วยควรทราบว่า สิ่งใดที่กระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยง เช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแลง, หวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  3. ผู้ป่วยควรทราบว่า สิ่งใดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรทำ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. โรคนี้ แพทย์ไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยใช้ยา (ซึ่งแก้ปลายเหตุ) ไปตลอดชีวิต แต่ผู้ป่วยจะสามารถลดหรือหยุดยาที่ใช้ได้ ก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการได้ และสามารถออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้
  5. เนื่องจากเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคนี้ไว มีอาการทางจมูกได้ง่าย และหายยาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจมูก ควรใช้ยาเพื่อให้อาการดังกล่าวหายเร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้

หลักการรักษามีอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

  1. การหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หรือกำจัด หรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น
    • หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบๆให้ปราศจากฝุ่น
    • ฟูก โต๊ะ เตียง หมอน พรม ไม่ควรใช้แบบเก็บกักฝุ่น
    • ของเล่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า ไม่เลือกแบบมีขน
    • ในรายที่แพ้ขนสัตว์ หลีกเลี่ยงสัตว์ที่ทำให้เกิดการแพ้
    • กำจัดแมลงสาบ แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่ของสัตว์ไม่พึงประสงค์
    • ซักทำความสะอาดเครื่องนอน ปลอก หมอน มุ้ง ผ้าห่ม อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และนานอย่างน้อยสัก 30 นาที
    • หลีกเลี่ยงละอองเกสร หญ้า ดอกไม้ วัชพืช
    • ทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในอากาศ ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้
    • หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง หรือปัจจัยที่กระตุ้นอาการภูมิแพ้ให้มากขึ้น เช่น การอดนอน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การสัมผัสกับฝุ่น ควัน อากาศร้อน เย็น เกินไป ถ้าผู้ป่วยไวต่ออะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  2. การใช้ยาบรรเทาอาการ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีหลายชนิด ได้แก่ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines), ยาหดหลอดเลือด (decongestant), ยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) ทั้งชนิดกิน (oral steroids) และ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (intranasal steroids), ยาต้านโคลิเนอร์จิก (anticholinergic drug) เช่น ipratropium bromide, ยาต้านลิวโคไตรอีน (anti-leukotrienes)
    แนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554) ได้ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาด้วย
    • ยาต้านฮิสทามีน คือควรใช้ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากได้ผลดี มีความปลอดภัย ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยพิจารณาระหว่างผลที่ได้กับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และสามารถใช้ยาต้านฮิสทามีนได้ในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ทุกชนิดและทุกความรุนแรง
    • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก คือ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีความปลอดภัยสูงในขนาดยาที่ใช้ในการรักษา ควรเลือกใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นชนิดคงที่และอาการปานกลางถึงรุนแรง หรือมีอาการคัดจมูกมาก ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ข้อบ่งชี้ และหยุดยา เมื่อหมดความจำเป็น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการใช้ยาต้านฮิสทามีนร่วมกับ antileukotrienes
  3. แนวทางการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่จัดทำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2015 ก็แนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 หรือชนิดที่ทำให้ไม่ง่วงในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่อาการหลักของผู้ป่วย คือ จาม และคัน และแนะนำให้แพทย์ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกรักษา เมื่ออาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

  4. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
  5. การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา

การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ควรคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ชนิดและความรุนแรงของโรค, ตัวผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เอง และแพทย์ โดยสรุป โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้นั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย

Last update: 19 ตุลาคม 2559