คลายข้อสงสัย...เรื่องล้างจมูก
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คำถาม: การล้างจมูกคืออะไร
คำตอบ: การล้างจมูก เป็นการทำความสะอาดโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส โดยชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูก และ/หรือ ไซนัส ซึ่งเกิดจากการอักเสบออก ด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้โพรงจมูกและ/หรือ ไซนัสโล่ง ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล (ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ) แสบจมูก ปวดจมูก หรือปวดบริเวณไซนัส รวมทั้งการมีกลิ่นเหม็นในโพรงจมูกและ/หรือ ไซนัส
คำถาม: การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร
คำตอบ: การล้างจมูกมีประโยชน์ดังนี้
- ช่วยล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกและ/หรือ ไซนัส สะอาด
- ช่วยให้อาการหวัดเรื้อรัง (คัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก) ดีขึ้น และลดน้ำมูกหรือเสมหะที่ไหลลงคอ
- ช่วยระบายหนองจากไซนัสดีขึ้น โดยลดน้ำมูกหรือหนองที่อุดอยู่บริเวณรูเปิดของโพรงไซนัส ในโพรงจมูก ทำให้อาการไซนัสอักเสบดีขึ้นเร็ว
- ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอด
- ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และ สารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส
- ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
- ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ถ้าใช้น้ำเกลืออุ่นล้างจมูก โดยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้หายใจโล่งขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก
- การล้างจมูกก่อนการพ่นยา หรือหยอดยาในจมูก (ในกรณีแพทย์สั่งยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูกให้ใช้) จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดี มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
- ช่วยชะล้างคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูก และ/หรือไซนัส หลังการผ่าตัด หรือหลังการฉายแสงออก ทำให้แผลในโพรงจมูก และไซนัสหายเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดพังผืดซึ่งทำให้รูจมูกหรือไซนัสตีบแคบ
- ช่วยเพิ่มการทำงานของขนกวัดในจมูก ซึ่งทำหน้าที่พัดโบก กำจัดสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก
- ทำให้ลดปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูก และ/หรือ ไซนัสลงได้
คำถาม: ควรล้างจมูกเมื่อใด
คำตอบ: ควรล้างจมูกเมื่อ
- เมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นค้างอยู่ในโพรงจมูกหรือไซนัส
- เมื่อมีอาการคัดแน่นจมูก
- เมื่อหายใจเอาฝุ่นควัน หรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในจมูก
- ก่อนใช้ยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก
- เมื่อมีเสมหะในลำคอ ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกหรือไซนัส
- หลังผ่าตัด หรือหลังการฉายแสงบริเวณจมูก หรือไซนัส
- มีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากโรคจมูก และ/หรือไซนัส
คำถาม: ใครบ้างที่ควรล้างจมูก
คำตอบ: ผู้ป่วยเหล่านี้......ควรได้รับการล้างจมูก
- ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ "หวัด"
- ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ "แพ้อากาศ"
- ผู้ป่วยโรคริดสีดวงจมูก
- ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจมูกและ/หรือไซนัส
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณจมูกและ/หรือไซนัส
คำถาม: การล้างจมูก...ทำอย่างไร
คำตอบ: เทคนิคการล้างจมูก มีดังต่อไปนี้
- ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยเทน้ำเกลือสำเร็จรูป เช่น น้ำเกลือในขวดที่บรรจุมาแล้วจากโรงงาน หรือน้ำเกลือที่ได้จากการผสม (โดยใช้เกลือซองสำเร็จรูปผสมกับน้ำสะอาด) ใส่ภาชนะปากกว้าง เช่น ชาม ในขนาดพอประมาณ ที่จะทำการล้างในเวลานั้นๆ และนำไปอุ่นในเครื่องไมโครเวฟ ในกรณีที่อยากทำน้ำเกลือไว้ล้างเอง อาจทำได้โดย ต้มน้ำประปาในขนาด 1 ขวดแม่โขง (750 ซีซี) ในหม้อต้มให้เดือด หลังจากนั้นใส่เกลือแกง หรือเกลือป่นที่ใช้ปรุงอาหารลงไป 1 ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงปิดไฟ และตั้งทิ้งไว้ให้อุ่น (น้ำเกลือที่เตรียมเอง ควรใช้ภายใน 1 วันเท่านั้น ที่เหลือควรทิ้งไป) ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้
- ควรล้างจมูกบนโต๊ะ โดยหาภาชนะมารองรับน้ำเกลือหลังล้าง ที่จะออกมาทางจมูก และปาก เช่น ชาม หรือกะละมัง หรือล้างในอ่างล้างหน้าในห้องน้ำ
- ใช้ลูกยางแดง หรือกระบอกฉีดยา ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในขนาดน้อยๆก่อนเช่น ประมาณ 10-15 ซีซี ในผู้ใหญ่ หรือประมาณ 5 ซีซี ในเด็ก หรือกรอกน้ำเกลือใส่ขวดพลาสติกที่ใช้สำหรับล้างจมูก
- ผู้ที่จะล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า และก้มหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือหลังจากที่ล้างแล้ว ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่า หรือ คัดน้อยกว่าก่อน
- ควรนำปลายของลูกยางแดง หรือกระบอกฉีดยา หรือขวดพลาสติกที่ใช้สำหรับล้างจมูก ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้ แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้
- บีบลูกยางแดง หรือดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยา หรือบีบขวดพลาสติกที่ใช้สำหรับล้างจมูก เบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ ซึ่งน้ำเกลือก็จะผ่านเข้าไปในโพรงจมูกข้างหนึ่ง แล้วไปกระทบกับผนังของโพรงหลังจมูก แล้วผ่านเข้าไปในโพรงจมูกอีกข้างหนึ่ง (โพรงจมูกซ้ายและขวามีทางเชื่อมต่อกันทางด้านหลัง) แล้วออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่ง หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ไหลออกมาจากจมูก และ / หรือ ปากแล้ว ให้หายใจตามปกติได้ ข้อสำคัญคือ ระหว่างที่ดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จะต้องกลั้นหายใจไว้ มิฉะนั้นอาจหายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลมทำให้เกิดการสำลักได้
- หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูก และรู้จังหวะของการหายใจแล้ว จึงค่อยๆเพิ่มปริมาณของน้ำเกลือในการล้างแต่ละครั้งขึ้นเรื่อยๆ การล้างจมูกให้ได้ประสิทธิภาพในการชำระล้างโพรงจมูกให้สะอาดนั้น ควรจะดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบนและล่างของโพรงจมูก เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้ทั่วทั้งโพรงจมูก และออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังจากฉีดล้างโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรจะมีน้ำเกลือไหลออกจากโพรงจมูกอีกข้าง ถึงจะเป็นการล้างที่ถูกต้องคือ มีปริมาณของน้ำเกลือที่ใช้ล้างในแต่ละครั้ง และมีความแรงของน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปเพียงพอ ควรล้างโพรงจมูกสลับข้างไปเรื่อยๆ เช่น หลังล้างข้างซ้าย ก็ควรย้ายไปล้างข้างขวา แล้วสลับกันไปมา
- การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูกและปาก จะใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้
- หลังจากล้างเสร็จ สามารถสั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้ การล้างจมูกอย่างถูกต้องบ่อยๆ จะไม่เกิดโทษ หรืออันตรายต่อจมูก หรือร่างกาย ในทางตรงกันข้าม จะมีประโยชน์โดยช่วยล้างน้ำมูก สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก ดังนั้นในช่วงวันหยุด ถ้าล้างเพิ่มได้ ก็ควรจะทำ ควรล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูกเสมอ แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก
- หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด (ในกรณีที่ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาที่ทำจากแก้ว หลังจากล้างแล้วควรนำมาต้มกับน้ำเดือด ประมาณ 5 นาที) แล้วผึ่งให้แห้ง
คำถาม: การล้างจมูก กับการใช้น้ำเกลือพ่นจมูกมีข้อแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ: ต่างกันเรื่องปริมาตรของน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดโพรงจมูก การล้างจมูกใช้ปริมาตรของน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดโพรงจมูกมากกว่า ขณะที่การใช้น้ำเกลือพ่นจมูกใช้ปริมาตรของน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดโพรงจมูกน้อยกว่า ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากการล้างจมูกนั้นน่าจะมากกว่าการใช้น้ำเกลือพ่นจมูก เปรียบเสมือนการล้างจมูก คือการอาบน้ำ การใช้น้ำเกลือพ่นจมูก คือการเช็ดตัว การอาบน้ำย่อมทำให้ร่างกายสะอาดมากกว่าการเช็ดตัว แต่การใช้น้ำเกลือพ่นจมูกมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้ที่จะล้างจมูก ไม่สะดวกในการเตรียมอุปกรณ์สำหรับล้างจมูก อาจใช้น้ำเกลือพ่นจมูกทำความสะอาดโพรงจมูกแทน
คำถาม: ทำไมเมื่อมีการล้างจมูกแล้ว บางทีมีน้ำไหลลงคอ หรือมีอาการหูอื้อ, ปวดหู, มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ และจะเป็นอันตรายหรือเปล่า
คำตอบ: เนื่องจากโพรงจมูกด้านหลังมีช่องทางติดต่อกับคอ และหูชั้นกลาง โดยผ่านท่อยูสเตเชียน (eustachian tube) ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่าง หูชั้นกลาง (middle ear) และโพรงหลังจมูก (nasopharynx)
ดังนั้นเมื่อล้างจมูก แล้วน้ำเกลือจึงอาจลงมาในคอได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ผู้ล้างจมูกสามารถบ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงมาในคอทิ้งได้
ท่อยูสเตเชียนทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เมื่อใดที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติไป จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ (aural fullness or hearing loss), ปวดหู (otalgia), มีเสียงดังในหู (tinnitus) หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุน (vertigo)ได้
ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อยที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติ ได้แก่ เวลาขึ้นหรือลงลิฟท์เร็วๆ หรือเครื่องบินขึ้น หรือลงเร็วๆ หรือ เวลาดำน้ำ หรือ เวลาเป็นหวัด หรือ ไซนัสอักเสบ หรือภูมิแพ้กำเริบ จะมีอาการหูอื้อ, ปวดหู, มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุน
ดังนั้นเวลาล้างจมูก น้ำอาจไปถูกรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ทางด้านหลัง ทำให้ผู้ล้างมีอาการหูอื้อ หรือปวดหูได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเป็นเพียงชั่วคราว และไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
ผู้ล้างควรจะสังเกตว่าดันน้ำเข้าไปในโพรงจมูกทิศทางใด แล้วเกิดอาการของหู ดังกล่าว ก็ควรหลีกเลี่ยงทิศทางนั้นๆ
คำถาม: การล้างจมูก จำเป็นต้องทำเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูก เท่านั้นหรือเปล่า
คำตอบ: ไม่จำเป็น คนธรรมดาที่แข็งแรงดี แล้วอยากล้างทำความสะอาดในโพรงจมูกก็สามารถทำได้ หรือผู้ป่วยเหล่านี้ ที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้จมูก ก็สามารถล้างจมูกได้
- ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ "หวัด"
- ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคริดสีดวงจมูก
- ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจมูกและ/หรือไซนัส
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณจมูกและ/หรือไซนัส
คำถาม: กรณีที่ใช้อุปกรณ์ล้างจมูกที่มีแรงดันสูงมาก จะเป็นอันตรายหรือเปล่า
คำตอบ: ในคนปกติ อาจต้องระมัดระวังว่าน้ำที่มีแรงดันที่สูงมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะในโพรงจมูก หรือรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ทางด้านหลังโพรงจมูกได้ และยิ่งในผู้ป่วยที่โครงสร้างในโพรงจมูกไม่ปกติ เช่นเคยได้รับการผ่าตัดโพรงจมูกและ/หรือไซนัส หรือเคยได้รับการฉายแสงบริเวณโพรงจมูกและ/หรือไซนัสมาก่อน ก็ควรระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น
Last update: 14 ตุลาคม 2559