ทางเชื่อมต่อที่ผิดปกติระหว่างไซนัสโหนกแก้ม และช่องปาก

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โดยปกติไซนัสหรือโพรงอากาศข้างจมูกบริเวณโหนกแก้มและช่องปากไม่มีทางเชื่อม ต่อกัน เมื่อเกิดพยาธิสภาพหรือความผิดปกติจะทำให้มีรูเชื่อมต่อระหว่าง 2 อวัยวะดังกล่าวได้ และถ้าทางเชื่อมต่อนั้นมีเยื่อบุผิวมาปกคลุมก็จะทำให้รูเปิดนั้นไม่ปิดง่ายๆ อุบัติการของความผิดปกติดังกล่าวนี้มักเกิดในช่วงอายุ 20-40 ปี

สาเหตุ เกิดจาก

1) การถอนฟัน เป็น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดรู ผ่านทางร่องฟันหลังถอนฟัน โดยมักเกิดตามหลังการถอนฟันกรามบนซี่แรก ( first upper molar) บ่อยที่สุด เนื่องจากการเจริญของไซนัสโหนกแก้มเกิดพร้อมกับการขึ้นของฟันแท้บางซี่ เช่น second upper premolar, first and second upper molar บริเวณพื้นของไซนัสโหนกแก้ม จึงอยู่ชิดกับรากของฟันกรามบนมาก ทำให้มีการทะลุเข้าไปในโพรงไซนัสโหนกแก้มได้ง่ายหลังถอนฟันซี่ดังกล่าว นอกจากนั้นการที่มีฝีที่รากฟันกรามบน, โรคเหงือก หรือ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เวลาถอนฟัน ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากได้ ง่าย การพยายามเอารากฟัน ที่หักคาอยู่ที่ร่องฟันออก หลังเกิดฟันหัก หรือการถอนฟันคุด อาจทำให้เกิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากได้ โดยปกติถ้าผู้ป่วยไม่มีโรคของไซนัส, โรคฟัน หรือโรคเหงือก รูที่เกิดหลังจากถอนฟันนี้มักปิดได้เอง

2) อุบัติเหตุ โดย อาจเกิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก หลังจากมีแผลทะลุบริเวณเพดานแข็ง เช่น มีการหักของกระดูกบริเวณใบหน้า หรือเกิดจากแผลหลังถูกปืนยิงทะลุ หรือฟันบนหลุดจากอุบัติเหตุ แล้วทำให้กระดูกขากรรไกรบนเหี่ยวฝ่อ และเกิดไขกระดูกอักเสบ

3) หลังการผ่าตัด เช่น หลังทำผ่าตัดไซนัสโหนกแก้ม โดยเข้าทางด้านหน้าของไซนัส หรือหลังส่องกล้องเข้าไปในไซนัสโหนกแก้มด้านหน้า ผ่านทางช่องปาก แผลผ่าตัดอาจจะปิดไม่สนิท จึงเกิดรูเชื่อมต่อขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ มักเกิดจาก การขาดการระบายที่ดีของรูเปิดระหว่างไซนัสและโพรงจมูก

4) เนื้องอกในไซนัสโหนกแก้ม อาจกัดกร่อนพื้นของไซนัสแล้วทะลุเข้ามาในช่องปากได้ หรืออาจเกิดจากการแยกของเนื้อเยื่อ หลังฉายแสงในการรักษามะเร็งของไซนัส หรือช่องปาก

อาการ

ผู้ ป่วยอาจมาด้วย อาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ ปวดตื้อๆ บริเวณโหนกแก้ม มีอาการคัดจมูก น้ำมูกสีเหลืองเขียว มีเสมหะในคอ อาจมีหนองไหลออกมาในช่องปาก ทำให้มีกลิ่นเหม็น หรือเวลาดื่มน้ำ จะมีน้ำไหลเข้าไปในช่องจมูกได้ก่อนกลืน หรือดูดน้ำโดยใช้หลอดลำบาก เนื่องจากต้องทำให้เกิดความดันในช่องปากที่เป็นลบด้วยขนาดที่สูงกว่าปกติ

อาการแสดง

เมื่อ ตรวจดูในช่องจมูก อาจพบอาการแสดงของไซนัสอักเสบคือ มีน้ำมูกเหลืองข้นในช่องจมูก เยื่อบุจมูกบวมแดง และอาจมีเสมหะสีเหลืองไหลลงคอ เมื่อตรวจดูในช่องปาก อาจเห็นรูบริเวณกระดูกโหนกแก้มซึ่งอาจมีหนองไหลออกมา เมื่อใช้สายพลาสติกใส่เข้าไปในรูก็สามารถเข้าไปในไซนัสโหนกแก้มได้

การวินิจฉัย

อาศัย ประวัติ และการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไซนัสอักเสบ , โรคมะเร็งของจมูกและไซนัส และควรจะใช้สายพลาสติกขนาดเล็ก ใส่ลงไปใน ทางเชื่อมดังกล่าว เพื่อดูว่าสามารถเข้าไปในไซนัสได้หรือไม่ รวมทั้งการสืบค้นเพิ่มเติมดังนี้

1) เอ็กซเรย์ ไซนัสชนิดธรรมดา จะ มีประโยชน์ในการดูว่า มีไซนัสอักเสบหรือไม่ มีสิ่งแปลกปลอมในไซนัสหรือไม่ มีลักษณะการกัดกร่อนของกระดูกที่เกิดจากเนื้องอกในไซนัสหรือไม่ นอกจากนั้น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) สามารถให้รายละเอียดต่างๆ ได้มากกว่าการเอ็กซเรย์ ไซนัสธรรมดา เช่น ลักษณะทางกายวิภาค , ลักษณะของรอยโรคในไซนัส , สิ่งแปลกปลอมในไซนัส , ขอบเขตของโรคในไซนัส ซึ่งมีประโยชน์ในการวางแผนรักษา

2) การฉีดสารทึบรังสี เข้าไปในรูแล้วเอ็กซเรย์ไซนัสดู อาจมีประโยชน์ในรายที่อาการ และอาการแสดงไม่ชัดเจนเท่านั้น ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว

3) การตัดชิ้นเนื้อ อาจจำเป็นในรายที่สงสัยเนื้องอกบริเวณรูเชื่อมต่อ หรือในไซนัสโหนกแก้ม

4) การเอ็กซเรย์ฟัน อาจแสดงให้เห็นถึง เศษของรากฟันที่หักคาอยู่ และบอกถึงพยาธิสภาพของกระดูกขากรรไกร และฟันบริเวณใกล้เคียงกับรูเชื่อมต่อที่ผิดปกติได้

5) การส่องตรวจโพรงจมูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคป เพื่อดูว่ามีลักษณะน้ำมูกเหลืองข้นในช่องจมูก ซึ่งออกมาจากรูเปิดของไซนัสโหนกแก้มหรือไม่ รวมทั้งดูว่ารูเปิดระหว่างไซนัสและโพรงจมูกยังดีอยู่หรือไม่ มีอะไรมาอุดกั้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยยืนยันการวินิจฉัย ในกรณีที่สงสัยเนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส และช่วยวินิจฉัย ภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบ เช่น ริดสีดวงจมูก หรือ ผนังกั้นช่องจมูกคด ในรายที่รูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากใหญ่พอ อาจส่องกล้องเข้าไปดูลักษณะของทางเชื่อมดังกล่าว และเยื่อบุในไซนัสโหนกแก้มได้

การรักษา

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการรักษา คือ

  • ระยะเวลาที่เกิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก
  • มีการติดเชื้อในไซนัสร่วมด้วยหรือไม่
  • เคยทำผ่าตัดปิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากมาก่อนหรือไม่
  • ขนาดและตำแหน่งของรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก

ใน รายที่เกิดตามหลังการถอนฟันทันที ไซนัสโหนกแก้มมักปกติ และขนาดของรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากไม่ใหญ่มาก การรักษาที่ดีสุดคือ การเย็บปิดทันทีหลังถอนฟัน อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีเศษของรากฟันหักคาอยู่ จำเป็นต้องเอาออกก่อนเย็บปิด

ใน รายที่เป็นมานานมักจะมีเนื้อเยื่อที่อักเสบอยู่ในรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัส โหนกแก้มและช่องปาก รวมทั้งมักมีการติดเชื้อในไซนัสโหนกแก้มชนิดเรื้อรังร่วมด้วย ในรายเช่นนี้ ควรรักษาการติดเชื้อในไซนัสให้ดีขึ้นก่อน ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ต้องเอาออก และทำทางระบายโดยการผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป เพื่อเป็นทางระบายของหนอง หรือการติดเชื้อ และให้ยาต้านจุลชีพ และนัดมาดูเป็นระยะๆ จนกว่า การติดเชื้อจะหมดไป ถ้าให้การรักษาอย่างเต็มที่ 4 สัปดาห์แล้ว รูยังไม่ปิดเอง และการติดเชื้อหมดไป จึงพิจารณาทำการผ่าตัดปิดรู ในรายที่รูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากมีขนาดใหญ่ ซึ่งมักเกิดตามหลังการผ่าตัดเอาเนื้องอกในไซนัสโหนกแก้มออก หรือที่เพดานแข็งออก ควรใช้วัสดุครอบฟันและเพดานช่วย

การ รักษาโรคที่ผู้ป่วยมีร่วมด้วย จะทำให้ผลของการรักษารูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากดีขึ้น เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ , โรคริดสีดวงจมูก โดยเฉพาะโรคของเหงือกและฟัน มิฉะนั้น อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นๆ หายๆ ทำให้การผ่าตัดซ่อมแซมรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก ล้มเหลวได้

การผ่าตัดปิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก

หลัก การผ่าตัดคือ การเอาเยื่อบุผิว (epithelium) ที่คลุมอยู่ในรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากออก รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อักเสบหรือตายในไซนัสออกด้วย หลังจากนั้นล้างทำความสะอาดไซนัสและรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่อง ปากจนสะอาดก่อนพิจารณาผ่าตัดปิดรู และควรมีทางระบายของไซนัสอย่างพอเพียง

การติดตามหลังผ่าตัด

หลัง ผ่าตัด ไม่ควรใช้ฟันปลอม เพราะอาจกดเนื้อเยื่อที่ใช้ปิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก ได้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารเหลวก่อน จนกว่าจะตัดไหม ( ประมาณ 10 วัน หลังผ่าตัด ) แล้วจึงเริ่มด้วยอาหารอ่อน โดยเคี้ยวข้างที่ไม่มีรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปาก ไม่ควรใช้หลอดดูดน้ำ หรืออาหาร เนื่องจากจะเพิ่มความดันที่เป็นลบต่อเนื้อเยื่อที่ใช้ปิดรูเชื่อมต่อระหว่าง ไซนัสโหนกแก้มและช่องปากได้ และควรทำความสะอาดปาก โดยการบ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ผู้ป่วยควรนอนศีรษะสูงหลังผ่าตัด หลีกเลี่ยงการเพิ่มความดันในไซนัส เช่น ไม่ควรสั่งน้ำมูก ถ้าจะจามควรเปิดปาก หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือสูบบุหรี่ รับประทานยาต้านจุลชีพจนกว่าการติดเชื้อจะดีขึ้น และใช้ยาหดหลอดเลือดหยอดจมูกบริเวณ รูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและโพรงจมูก เพื่อให้มีการระบายที่ดีจากไซนัสมายังโพรงจมูก และพบแพทย์เพื่อดูรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากเป็นระยะๆ และดูแผลในปาก ที่ผ่าตัดเย็บซ่อมไว้จนกว่าแผลจะหายดี

ภาวะแทรกซ้อน

ปัญหาที่พบได้คือ แผลที่เย็บปิดรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากไว้แยก หรือเนื้อเยื่อที่ใช้ปิดตายซึ่งมักเกิดจาก

  • มีการระบายของไซนัสเข้าไปในโพรงจมูกไม่ดี เช่น อาจมีการอุดกั้นบริเวณรูเปิดของไซนัส หรือ รูเปิดของไซนัสตีบแคบ
  • ไม่ ได้เอาเนื้อเยื่อที่ตาย เนื้อเยื่อหรือกระดูกที่อักเสบออก, ไม่ได้เอาเยื่อบุผิวที่คลุมรูเชื่อมต่อระหว่างไซนัสโหนกแก้มและช่องปากออก ทำให้ยังมีการติดเชื้อหลงเหลืออยู่
  • ความยาวของเนื้อเยื่อที่ใช้ปิดรูไม่พอ ทำให้เกิดความตึงสูงที่แผล ทำให้แผลแยกได้ง่าย
  • ใช้วัสดุที่ละลายได้เย็บปิด ซึ่งอาจจะละลายหายไป ก่อนแผลติดกันสนิทดี

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม: [คลิก]

Last update: 16 เมษายน 2552