การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู (Aural Hygiene)
ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หู...ใครว่าไม่สำคัญ หู....นอกจากเป็นอวัยวะที่ใช้ในการได้ยินแล้ว ยังเป็นอวัยวะที่ช่วยในการทรงตัวด้วย โรคของหูมีหลายชนิดตั้งแต่โรคของหูชั้นนอก, หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อใดมีความผิดปกติของหูเกิดขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติดังนี้
- หูอื้อ หรือหูตึง
- มีเสียงดังในหู
- มีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน
- ปวดหู
- มีน้ำ หรือหนองไหลออกจากรูหู
- คันหู
- หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต
การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู เป็นการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการปั่น, แคะ, ล้าง (ด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆ), ทำความสะอาดช่องหู โดยเฉพาะการใช้ไม้พันสำลี, นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม หลังอาบน้ำ หรือการให้ช่างตัดผม ปั่นหรือแคะหู เนื่องจากการกระทำดังกล่าว อาจกระตุ้นทำให้มีขี้หูในช่องหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น (จากการระคายเคืองที่ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น) และจะยิ่งดันขี้หู ในช่องหูที่มีอยู่แล้วให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น เกิดอาการหูอื้อ หรือรู้สึกปวด หรือแน่นในช่องหู นอกจากนั้นอาจเกิดอันตราย หรือรอยถลอกของช่องหูชั้นนอก (เกิดแผลทำให้มีเลือดออก หรือหูชั้นนอกอักเสบได้) หรืออาจทำให้เยื่อบุแก้วหูฉีกขาดได้
- ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ หรือเป็นหูชั้นนอกอักเสบบ่อย (เป็นๆหายๆ) (น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอก อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญทำให้ต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น) หรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุแก้วหูทะลุ (เพราะน้ำที่เข้าไปจะเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้) สามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดย เอาสำลีชุบวาสลินอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติก คลุมผมโดยให้ปิดถึงหู หรือใช้วัสดุอุดรูหู (ear plug) (ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬาทั่วไป เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) เวลาอาบน้ำ เมื่อน้ำเข้าหู ควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออก และเฉียงไปทางด้านหลัง (ปกติช่องหูจะโค้งเป็นรูปตัว “S”) ซึ่งจะทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง ที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหู จะหายไปทันที ไม่ควรปั่นหรือแคะหู
- เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก (เช่น หวัด หรือจมูกอักเสบ), โพรงหลังจมูก, โพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) หรือมีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบรักษาให้บรรเทา หรือหายโดยเร็ว เนื่องจากมีทางติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ, น้ำขังในหูชั้นกลาง หรือท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ หรือแม้แต่ทำให้ประสาทหูอักเสบ เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ นอกจากนั้น
- ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงโดยเฉพาะเอามือบีบจมูก แล้วสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในช่องจมูก และไซนัสเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย
- ไม่ควรว่ายน้ำ, ดำน้ำ, เดินทางโดยเครื่องบิน หรือเดินทางขึ้นที่สูง หรือต่ำอย่างรวดเร็ว (เช่น ใช้ลิฟท์) เพราะท่อยูสเตเชียน ซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลาง กับบรรยากาศภายนอก ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ อาจทำให้มีอาการปวดหู, หูอื้อ, เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ถ้าจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพื่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวน้อยที่สุด - ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหู และบริเวณใกล้เคียง เช่น การถูกตบหู อาจทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุ และฉีกขาด, การที่ศีรษะกระแทกกับ พื้นหรือของแข็ง อาจทำให้กระดูกรอบหูแตก อาจทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด, มีเลือดออกในหูชั้นกลาง หรือชั้นใน, มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู หรือทำให้กระดูกหูเคลื่อน ทำให้การนำเสียงผิดปกติไป
- โรคบางชนิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวก หรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดี เช่น โรคหวัด,โรคหัด, คางทูม, เบาหวาน, โรคไต, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคกรดยูริกในเลือดสูง, โรคโลหิตจาง, โรคเลือด และควรระวังปัจจัยบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เครียด วิตกกังวล, นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน),รับประทาน อาหารเค็ม หรือดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ, ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ (เช่น เสียงในสถานเริงรมย์, โรงงานอุตสาหกรรม) หรือเสียงดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น เสียงปืน, เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อยๆเสื่อมลงทีละน้อย หรือเสื่อมแบบเฉียบพลันได้ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น ที่อุดหู (ear plug) หรือที่ครอบหู (ear muff)
- ก่อนใช้ยาทุกชนิด ไม่ว่าจะฉีด, รับประทาน หรือหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ (เช่น aminoglycoside), ยาแก้ปวด (เช่น aspirin) หรือยาขับปัสสาวะ บางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหู และประสาททรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเสียการทรงตัวได้ หรือผู้ป่วย อาจแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
- ขี้หู เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู ถ้ามีขี้หูอุดตันมาก จนทำให้หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก บางคนที่มีปัญหาขี้หูเปียกและออกมาจากช่องหูมาก อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู (อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง) ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้ หรืออาจทำความสะอาดช่องหู โดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่ม และเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น
- เมื่อมีอาการผิดปกติทางหู เช่น หูอื้อ, มีเสียงดังในหู, มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน, ปวดหู, มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู, คันหู, หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาตควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก
.................................................................................
Last update: 21 ธันวาคม 2552