เครื่องทำให้เกิดความดันลบในช่องปาก (Oral Negative Pressure-Producing Machine): ทางเลือกใหม่สำหรับรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
อาการนอนกรน (snoring) และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea: OSA) เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน เวลาผู้ป่วยนอนหงาย เพดานอ่อน, ลิ้นไก่ และโคนลิ้น มักจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงให้ตกลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อลมวิ่งผ่านทางเดินหายใจที่แคบ จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้เกิดเสียงกรนเกิดขึ้น และเมื่อทางเดินหายใจตีบแคบมากจนถึงขนาดที่ลมวิ่งผ่านไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับขึ้น
ได้มีการพัฒนาเครื่องซึ่งสามารถทำให้เกิดความดันลบในช่องปากขึ้นมา (oral pressure therapy) หรือ Winx? Device เพื่อใช้รักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ตั้งแต่ความรุนแรงน้อย, ปานกลาง หรือมาก โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากครอบจมูก และ/หรือ ปาก ซึ่งต่อเข้ากับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) อีกต่อไป
เครื่องมือนี้จะทำให้เกิดความดันลบขึ้นมาในช่องปาก ซึ่งความดันลบที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เพดานอ่อนและลิ้นไก่ และ/หรือ ส่วนหน้าของลิ้น เคลื่อนมาทางด้านหน้า (ภาพที่ 1) ไม่ให้ตกลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ โดยเฉพาะขณะที่ผู้ป่วยนอนหงาย ทำให้ทางเดินหายใจระดับหลังเพดานอ่อน และลิ้นไก่ (retropalatal airway) และ/หรือ หลังโคนลิ้น (retrolingual airway) กว้างขึ้น ทั้งในแนวหน้า-หลัง (anterior-posterior dimensions) และทางด้านข้าง (lateral dimensions) ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดน้อยลง เครื่องนี้สามารถใช้รักษาได้ทั้งกรนธรรมดา (primary snoring) ภาวะก้ำกึ่งระหว่างกรนธรรมดา และกรนอันตราย (upper airway resistance syndrome) และกรนอันตรายที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ร่วมด้วย (ไม่ว่า มีความรุนแรงน้อย, ปานกลาง หรือมาก)
ข้อดีของเครื่องมือชนิดนี้
- เป็นการรักษาโดยไม่ต้องใช้หน้ากากครอบจมูก และ/หรือปาก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่องนี้ในการรักษามากขึ้น
- เสียงจากเครื่องไม่ดังมาก ทำให้ไม่รบกวนผู้ที่ใช้งาน และคู่นอน
- ท่อที่ต่อระหว่างเครื่องและปากของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจึงสามารถนอนหลับได้ทุกท่า ไม่ว่านอนหงาย, ตะแคง หรือนอนคว่ำ
- วัสดุที่ใส่เข้าไปในช่องปากนิ่ม และยืดหยุ่นได้ง่าย
- ง่ายที่จะใช้ และทำความสะอาด และดูแลรักษาเครื่องมือง่าย
- มีขนาดเล็ก กะทัดรัด สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ง่าย
- สามารถใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการทำเครื่องมือทันตกรรม (custom-made oral appliance) ซึ่งมักต้องใช้เวลาในการทำ
- ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก สามารถนำไปวางบนที่ตั้งซึ่งอยู่ข้างเตียงได้
ข้อเสียของเครื่องมือชนิดนี้
- ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาคัดจมูก จะไม่สามารถใช้เครื่องมือชนิดนี้ได้ เพราะจะใช้เครื่องมือนี้ได้ ขณะนอนหลับ ผู้ป่วยต้องปิดปากสนิท และหายใจทางจมูก
ส่วนประกอบของเครื่องมือชนิดนี้ จะประกอบด้วยเครื่องมือ 3 ส่วน (ภาพที่ 2)
1. เครื่องทำให้เกิดแรงดันลบ (- 50 ซม. น้ำ) หรือเครื่องดูด (vacuum console) มีขนาดเล็ก และทำให้เกิดเสียงดังไม่มาก (ทำให้ไม่รบกวนผู้ป่วยและคู่นอนมากนัก) และผู้ป่วยสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ นอกจากนั้น ทางด้านหลังของเครื่อง ยังมีที่บันทึกข้อมูลการใช้งานของผู้ป่วยด้วย แพทย์จึงสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่องในการรักษามากน้อยเพียงใด และยังมีที่สำหรับเก็บน้ำลาย ซึ่งดูดมาจากช่องปากของผู้ป่วย
2. วัสดุที่ใส่เข้าไปในช่องปาก (mouthpiece) มีลักษณะนิ่ม และมีความยืดหยุ่นสูง โดยวัสดุดังกล่าวนี้จะอยู่ในช่องปากของผู้ป่วยขณะหลับ ซึ่งวัสดุนี้มีหลายขนาดให้เลือก (มีให้เลือกมากถึง 10 ขนาด) เพื่อให้เหมาะสมกับช่องปากของผู้ป่วย ซึ่งอาจต้องเปลี่ยน หลังการใช้งานไปแล้ว 3-6 เดือน วัสดุดังกล่าวนี้จะมีรูเล็กๆ ให้อากาศภายในช่องปากถูกเครื่องดูดออก
3. ท่อที่เชื่อมระหว่างเครื่องทำให้เกิดแรงดันลบ และวัสดุที่ใส่เข้าไปในช่องปาก (tubing) มีขนาดเล็ก และนิ่ม และยืดหยุ่นได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับในท่าใดก็ได้ (ภาพที่ 3)
ประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
มีการศึกษาหลายการศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทั้งเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับการรักษาใดๆ) หรือไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (เปรียบเทียบก่อน และหลังการใช้) โดยเครื่องมือชนิดนี้สามารถลด
- ดัชนีหยุดหายใจ และหายใจแผ่วเบา (apnea and hypopnea index)
- ดัชนีการตื่นระหว่างหลับ (arousal index)
- อาการง่วงมากเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness)
และสามารถเพิ่ม
- ระยะเวลาของการนอนหลับลึก
- คุณภาพการนอนหลับของทั้งผู้ป่วยและคู่นอน
- ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ
- พื้นที่ของทางเดินหายใจหลังเพดานอ่อนและลิ้นไก่ ทั้งในแนวหน้า-หลัง และแนวด้านข้าง
โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆต่อผู้ที่ใช้
ข้อบ่งชี้ในการใช้
- ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่ว่ามีความรุนแรงน้อย, ปานกลาง หรือมาก
ข้อห้ามในการใช้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากความผิดปกติในสมอง (central sleep apnea) คือไม่ได้เกิดจากภาวะอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน
- ผู้ป่วยที่มีโรคของระบบทางเดินหายใจชนิดรุนแรง เช่น โรคปอด หรือภาวะมีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax)
- ผู้ป่วยที่มีโรคเหงือกที่รุนแรง หรือมีฟันโยก
- ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
- ผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทั้ง 2 ข้าง ที่ยังไม่ได้รับการรักษา
ผลข้างเคียงจากการใช้งานที่พบได้แก่
- รู้สึกไม่สบายในช่องปาก (oral discomfort)
- รู้สึกไม่สบายที่ฟัน (dental discomfort)
- ปากแห้ง
- รู้สึกไม่สบาย, ปวดหรือเจ็บที่ขากรรไกร (jaw discomfort)
- มีเลือดออกมาปนกับน้ำลาย
- มีแผล หรืออาการเจ็บที่เหงือกและฟัน
- มีน้ำลายออกมามากผิดปกติ
ซึ่งมักจะหายได้เองในผู้ป่วยบางราย (หลังใช้เครื่องไปแล้ว 2-3 วัน) หรืออาจเป็นอยู่นานได้ในบางราย
โดยสรุป นอกจากเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) เครื่องมือทันตกรรม (oral appliance) และการผ่าตัด ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว เครื่องทำให้เกิดความดันลบในช่องปาก ก็เป็นทางเลือกใหม่ทางเลือกหนึ่งในการรักษา โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาที่เป็นมาตรฐานทั้ง 3 การรักษา
Last update: 7 สิงหาคม 2558