การดูแลท่อหลอดลมคอหลังการเจาะคอ (Tracheostomy Tube Care)
การดูแลท่อหลอดลมคอหลังการเจาะคอ (Tracheostomy Tube Care)

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

    

 

ท่อหลอดลมคอ (tracheostomy tube) คือท่อที่ใส่เข้าไปในหลอดลมคอ (trachea) (รูปที่ 1) ภายหลังการเจาะคอ (tracheostomy) โดยใส่ผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่หลอดลมและปอดโดยไม่ต้องผ่านช่องจมูกและลำคอส่วนบน และยังเป็นทางให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกจากหลอดลม หรือดูดเสมหะออกจากหลอดลมได้

ลักษณะของท่อหลอดลมคอ เป็นท่อโค้ง 2 ชั้น ประกอบด้วย ท่อชั้นนอก (outer tube) และท่อชั้นใน (inner tube) (รูปที่ 2) สวมซ้อนกัน สามารถถอดแยกออกจากกันได้ ท่อชั้นในสามารถถอด และล้างเสมหะออกได้ เพื่อป้องกันการอุดตันของเสมหะ เมื่อต้องใส่ระยะยาว

ชนิดของท่อหลอดลมคอ ท่อหลอดลมคอแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดพลาสติก และชนิดโลหะ (รูปที่ 2)

จะดูแลท่อหลอดลมคอหลังการเจาะคออย่างไร
1. ภายหลังการเจาะคอ จะมีเสมหะ หรือเมือกเหลวออกมา ทำให้หายใจไม่สะดวก ต้องดูดออกโดยใช้ลูกยางแดงที่ผ่านการล้างทำความสะอาดแล้ว โดยทั่วไป ถ้าเป็นเด็ก อาจเลือกลูกยางแดงเบอร์ 1 หรือ 2 ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ควรเลือกลูกยางแดงเบอร์ 3 บีบลมออกจากลูกยางแดงจนแบน แล้วใส่ปลายลูกยางแดงเข้าไปในหลอดลมคอให้ลึกประมาณ 1 นิ้ว ปล่อยมือที่บีบลูกยางแดงออก พร้อมกับให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมา ลูกยางแดงที่ใช้แล้ว ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด กับสบู่, น้ำยาล้างจาน หรือผงซักฟอก หลังจากนั้นนำมาล้างและดูดล้างภายในด้วยน้ำร้อนจัด ไม่ควรดูดเสมหะภายหลังรับประทานอาหารทันที เพื่อป้องกันการอาเจียน ถ้ามีการสำลัก หรืออาเจียน ให้ใช้ลูกยางแดงดูดเศษอาหาร หรือน้ำลายออกจากท่อหลอดลมคอทันทีจนหมด

2. การป้องกันเสมหะอุดตันในท่อหลอดลมคอ
- ถอดหลอดลมคอชั้นใน (inner tube) ออกล้างทำความสะอาดทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ขึ้นกับว่ามีเสมหะมาก หรือเหนียว หรือไม่ และควรถอดออกล้างทุกครั้งที่รู้สึกหายใจไม่สะดวก (ดูวิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ ในภาคผนวก ก)
- ภายหลังทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นในเสร็จแล้ว จะต้องนำมาใส่ให้กับผู้ป่วยทันที เพราะการถอดท่อหลอดลมคอชั้นในทิ้งไว้นานๆ ทำให้เสมหะแห้งกรัง อุดตันปลายท่อหลอดลมคอชั้นนอก จนทำให้ใส่ท่อหลอดลมคอชั้นในกลับลำบาก และเป็นสาเหตุของการหายใจไม่สะดวก
- ดื่มน้ำอุ่นๆ วันละ 8-10 แก้ว ในผู้ใหญ่ และ 4-6 แก้วในเด็ก เพื่อให้เสมหะอ่อนตัว และขับออกมาได้ง่าย
- รับประทานยาละลายเสมหะ หรือขับเสมหะตามแพทย์สั่ง

3. ควรทำความสะอาดแผลเจาะคอ (ดูวิธีทำความสะอาดแผลเจาะคอ ในภาคผนวก ข) หมั่นเปลี่ยนผ้าก๊อสรองแผล เมื่อมีสิ่งคัดหลั่งออกจากแผลจำนวนมาก ทำให้เปียกแฉะ เปื้อนหรือสกปรก หรือภายหลังอาบน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

4. บริหารการหายใจเพื่อให้ปอดขยายตัว จะได้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนมากขึ้น โดยทำวันละหลายๆ ครั้ง ดังนี้
- นอนหงายราบ ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น หายใจเข้าลึกๆ เต็มที่จนท้องโป่งและกลั้นหายใจไว้ประมาณ 3 วินาที
- หายใจออกทางปากช้าๆ ทำปากห่อคล้ายผิวปาก เพื่อให้อากาศออกจากปอดมากที่สุด
- ทำบ่อยๆ ประมาณ 8-10 ครั้ง/ ทุก 2 ชั่วโมง

5. ไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยขับเสมหะออกจากหลอดลมและปอด ทำวันละหลายๆ ครั้ง ดังนี้
- นั่งในท่าโน้มตัวไปข้างหน้า หรือครึ่งนั่ง ครึ่งนอน
- ก่อนไอ หายใจเข้า – ออกลึกๆ ประมาณ 4-5 ครั้ง สูดลมหายใจเข้าเต็มที่ กลั้นไว้แล้วหายใจออกพร้อมกับไอแรงๆ 2-3 ครั้ง

6. ภายหลังการเจาะคอ ผู้ป่วยจะไม่มีเสียงพูดเหมือนปกติ ดังนั้นเมื่อต้องการสื่อสารกับผู้อื่น สามารถทำได้ดังนี้
- เขียนบอกในกระดาษ
- ผู้ป่วยสามารถออกเสียง หรือพูดเป็นประโยคสั้นๆโดยใช้นิ้วมืออุดรูท่อหลอดลมคอไว้ขณะพูดหรือสื่อสาร เป็นระยะเวลาช่วงสั้นๆ ให้มีเสียงเปล่งเป็นคำๆ ออกมา แต่อาจไม่สามารถพูดคุยตามปกติได้นาน หรือเป็นประโยค เพราะต้องเปิดท่อบ้างเพื่อรับอากาศหายใจ
- ใช้ภาษามือ ประกอบการใช้ริมฝีปากเวลาพูด

หากหมดสาเหตุของโรคแล้ว สามารถหายใจได้ทางจมูก ก็จะพูดได้ตามปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ที่มีการตัดกล่องเสียงออก หรือผู้ป่วยที่หลอดลมส่วนบนตีบสนิท

7. ควรใช้ผ้าบางๆ หรือผ้าเช็ดหน้าปิดคอ หรือพันคอไว้ เมื่อออกจากบ้าน หรือในขณะที่เด็กดูดนมและรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันแมลง ฝุ่นละออง เศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าท่อหลอดลมคอ และควรหลีกเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่น

8. ควรดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ (ครบ 5 หมู่) หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือชุมชนที่แออัด มีฝุ่นละออง ควัน สารเคมี มลพิษ ที่ซึ่งมีอากาศเย็น หรือแห้งจัด ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง อย่าอดนอน พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบาย

9. ควรแปรงฟันหรือกลั้วคอ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร และพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสภาพฟัน และรับการรักษาทุก 6 เดือน เนื่องจากการที่มีสุขภาพฟันที่ไม่ดีเช่น มีฟันผุ มีคราบหินปูน หรือโรคเหงือก อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย หรือ เป็นๆ หายๆ

10. ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำ สระผมได้ตามปกติ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าหลอดลมคอ งดอาบน้ำด้วยฝักบัว งดการลงสระว่ายน้ำ หรือเล่นน้ำทุกชนิด (เช่นการสาดน้ำกัน) งดอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง และไม่ควรเดินทางทางน้ำ เช่นโดยสารเรือ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเวลาฝนตก เพราะถ้าน้ำเข้าหลอดลมคอ จะทำให้สำลักน้ำ เนื่องจากกลั้นหายใจไม่ได้ และอาจเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต และ ในเด็กเล็ก ถ้าจะอาบน้ำในอ่าง ควรใส่น้ำแต่น้อย และไม่เอนตัวเด็กลงไปจนน้ำท่วมเข้าหลอดลมคอ เพราะน้ำจะเข้าไปท่วมปอดและเสียชีวิตได้

11. ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียน หรือทำภารกิจนอกบ้านได้ตามปกติ โดยต้องเตรียมท่อชั้นในที่ทำความสะอาดแล้วไปด้วย เพื่อสลับเปลี่ยนในช่วงเวลาที่อยู่นอกบ้าน

12. ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพราะท่อหลอดลมคอ และหลอดอาหารแยกกันคนละส่วน จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้อาหาร หรือน้ำกระเด็นหลุดลงไป โดยใช้ผ้าบางๆ ที่อากาศสามารถผ่านได้ มาคลุมปิดปากท่อไว้ ในขณะรับประทานอาหาร ในเด็กเล็กขณะดูดนม ควรผูกผ้ากันเปื้อนไว้ใต้คาง เพื่อป้องกันการไหลของนมลงหลอดลมคอ

13. การเปลี่ยนเชือกผูกท่อหลอดลมเอง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ท่อชั้นนอกหลุด ถ้าไม่แน่ใจควรมาเปลี่ยนที่โรงพยาบาล กรณีท่อหลอดลมคอชั้นนอก หรือในหลุดหาย หรือท่อหลอดลมคอทั้งชุดหลุดออกจากคอ ต้องรีบไปพบแพทย์ หรือไปสถานพยาบาลโดยด่วน เพื่อใส่ท่อหลอดลมคอใหม่ มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต

14. แพทย์จะถอดท่อหลอดลมคอออก หลังจากรักษาสาเหตุของโรคที่ทำให้ต้องเจาะคอแล้ว และประการสำคัญคือผู้ป่วยสามารถหายใจได้ทางจมูกสะดวกดี

15. ควรมาพบแพทย์ตามกำหนดนัด อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด ได้แก่
- ท่อหลอดลมคอหลุด ท่อชั้นในหาย หรือใส่เข้าไม่ได้
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แม้ว่าจะดูดเสมหะ หรือถอดล้างท่อชั้นในแล้วก็ตาม
- มีการติดเชื้อที่แผลเจาะคอเช่น มีไข้สูง ปวด บวม แดง มีหนองออกจากแผล
- มีเลือดออกจากท่อหลอดลมคอ หรือจากรอบๆท่อ
- มีการติดเชื้อในปอด หรือหลอดลม เช่น ไอมาก เสมหะข้น มีสีเขียว สีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น และมีไข้ร่วมด้วย

ภาคผนวก ก: วิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ

วัตถุประสงค์ของการถอดล้างท่อหลอดลมคอ

เพื่อป้องกันการอุดตัน และการติดเชื้อของท่อหลอดลมคอ

อุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ ประกอบด้วย

1. ภาชนะใส่น้ำ
2. ชาม หรือหม้อ
3. แปรงขนาดเล็ก ขนเป็ด หรือขนไก่
4. สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน
5. ลูกยางแดง หรือเครื่องดูดเสมหะ

วิธีทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ มีขั้นตอนดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง
2. มือข้างที่ไม่ถนัดจับท่อหลอดลมคอชั้นนอก ส่วนมือข้างที่ถนัดหมุนล็อคช้าๆ และถอดท่อหลอดลมคอชั้นในจากคอ แช่น้ำทิ้งไว้ 5-10 นาที
3. ล้างท่อชั้นในด้วยสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานทั้งด้านนอกและด้านใน แปรงท่อด้านในด้วยแปรงขนาดเล็ก จนกว่าเสมหะหลุดออกหมด และล้างด้วยน้ำให้สะอาด โดยการเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านภายในท่อหลอดลมคอ ถ้าเป็นท่อชนิดพลาสติกระวังอย่าให้มีรอยถลอก
4. นำท่อชั้นในชนิดโลหะต้มในน้ำเดือดนาน 30 นาที แล้วนำขึ้นมาวางไว้ให้หายร้อน สำหรับชนิดพลาสติกให้แช่น้ำยาไฮโปคลอไรท์ 0.5 % นาน 30 นาที และล้างด้วยน้ำต้มสุกมากๆ จนแน่ใจว่าไม่มีน้ำยาเหลือค้างอยู่ในท่อ
5. ก่อนนำไปใช้ ต้องสลัดท่อชั้นในให้แห้งสนิท ไม่ให้มีหยดน้ำค้างอยู่ในท่อเลย
6. ให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกจากคอ หรือดูดเสมหะจากท่อหลอดลมคอชั้นนอกที่ติดอยู่กับผู้ป่วย ด้วยลูกยางแดง หรือใช้เครื่องดูดเสมหะ การดูดแต่ละครั้งไม่ควรนานเกิน 10 วินาที
7. สวมท่อหลอดลมคอชั้นในกลับไปที่คอผู้ป่วยช้าๆ แล้วหมุนล็อคท่อหลอดลมคอให้สนิท เพื่อป้องกันท่อเลื่อนหลุดออกมา

ภาคผนวก ข: วิธีทำความสะอาดแผลเจาะคอ

วัตถุประสงค์ของการทำแผลเจาะคอ

อุปกรณ์ที่ใช้ทำแผล ประกอบด้วย

1. ปากคีบ
2. น้ำเกลือนอร์มัล 0.9 %
3. แอลกอฮอล์ 70 %
4. กรรไกร
5. สำลีกลม
6. สำลีพันปลายไม้
7. ผ้าก๊อสสี่เหลี่ยมขนาด 3 นิ้ว x 3 นิ้ว
8. พลาสเตอร์ม้วนขนาด 0.5 นิ้ว
9. ถุงพลาสติก

วิธีทำความสะอาดแผลเจาะคอ มีขั้นตอนดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
2. นั่งหน้ากระจก แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำแผลได้เอง ต้องมีผู้ดูแลทำแผลให้ โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย หนุนต้นคอด้วยผ้า หรือหมอนเล็กๆ เพื่อให้คอแอ่นขึ้นเล็กน้อย
3. ใช้กรรไกรตัดพลาสเตอร์ที่ติดบนก๊อส และค่อยๆ ดึงผ้าก๊อสผืนเก่า ที่รองใต้ท่อหลอดลมคอของผู้ป่วยออก
4. ใช้ปากคีบคีบสำลี และเทแอลกอฮอล์ลงบนสำลีพอหมาด เช็ดผิวหนังบริเวณรอบรูท่อหลอดลมคอ และบริเวณรอบๆแผลโดยวนจากด้านในชิดกับท่อ ออกด้านนอกจนสะอาด
5. ใช้ปากคีบคีบสำลีและใช้สำลีพันปลายไม้ และเทน้ำเกลือลงบนสำลีพอหมาด แล้วเช็ดผิวหนังบริเวณใต้ท่อหลอดลมคอทั้งด้านบนและด้านล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และทำซ้ำด้วยสำลี หรือสำลีพันปลายไม้อันใหม่จนสะอาด ห้ามใช้ไม้พันสำลีแยงเข้าไปภายในท่อหลอดลมคอ เพราะอาจจะหลุดเข้าไป อุดตันหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกได้
6. ใช้ปากคีบคีบผ้าก๊อสรูปห้าเหลี่ยมที่พับไว้ (รูปที่ 3) รองใต้แป้นท่อหลอดลมคอทีละข้าง แล้วปิดพลาสเตอร์ยึดชายผ้าก๊อสด้านล่างเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันท่อหลอดลมคอเสียดสีกับผิวหนัง ในกรณีที่เป็นท่อปีกนิ่ม อาจไม่ต้องใส่ผ้าก๊อสรองก็ได้
7. อุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ได้แก่ ปากคีบ ให้ล้างและต้มฆ่าเชื้อทันทีในน้ำเดือดนาน 30 นาที ส่วนของสกปรกอื่นๆ ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง

Last update: 16 เมษายน 2552