คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
หน่วยโรคภูมิแพ้ สาขาวิชาโรคจมูก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว เช่น
- โรคจมูกอักเสบ (acute rhinitis)  หรือที่มักเรียกว่า “หวัด” ทำให้มีไข้  อ่อนเพลีย  ปวดหรือมึนศีรษะ  คัดจมูก น้ำมูกไหล (ใส, ขุ่น หรือเหลืองเขียว)
- โรคไซนัสอักเสบ  (acute rhinosinusitis) ทำให้มี ไข้ คัดจมูก น้ำมูก หรือเสมหะเหลือง  ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อ่อนเพลีย  ไอ ปวดศีรษะ ปวดแก้ม หรือหน้าผาก
- โรคหูชั้นกลางอักเสบ (acute otitis media) ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดหู หูอื้อ อาจมีหนองไหลออกมาจากหู  มีเสียงดังในหู  อาจมีอาการเวียนศีรษะ   บ้านหมุนได้ในผู้ป่วยบางราย
- โรคคอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ (acute pharyngitis or tonsillitis) ทำให้มีไข้  เจ็บคอ กลืนอาหาร หรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บ
- โรคสายเสียง  หรือกล่องเสียงอักเสบ (acute laryngitis) ทำให้ไอ ระคายคอ มีเสียงแหบแห้ง
- โรคหลอดลมอักเสบ (acute bronchitis)  ทำให้ไอ  มีเสมหะ  เจ็บหน้าอก 
- โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (pneumonia)  ทำให้มีไข้ ไอ หอบ

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันนี้ สามารถทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และ/ หรือโรคหืดเป็นมากขึ้นได้ สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัส (ได้แก่ rhinovirus, influenza, parainfluenza, adenovirus) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ  ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเหมาะสม

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันควรปฏิบัติตนดังนี้ 

  1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก  น้ำมูกไหล  ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็นโดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง  ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร หรือไม่ให้อยู่ในทิศทางของลม  ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ   เนื่องจากอากาศที่เย็น สามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอ  มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง และยังสามารถกระตุ้นเยื่อบุจมูก  ทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก คัน จาม หรือน้ำมูกไหลมากขึ้นได้ และยังกระตุ้นหลอดลม ทำให้หลอดลมหดตัว ทำให้มีอาการไอ มีเสมหะได้   ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ โดยเฉพาะเวลานอน เนื่องจากปัจจุบัน เรามักจะเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมขณะนอนหลับ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หรือผ้าพันคอ หรือหมวก เวลานอนด้วย   ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว  ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน  ในรายที่มีน้ำมูกอยู่ภายในโพรงจมูกมาก หรือมีน้ำมูกไหลลงคอตลอดเวลา  แพทย์อาจแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นร่วมด้วย  หรือในรายที่มีอาการคัดจมูกมาก  แพทย์อาจแนะนำให้สูดไอน้ำร้อน ซึ่งจะทำให้อาการน้ำมูกไหล หรือคัดจมูก ดีขึ้นเร็ว
  2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ หรือระคายคอร่วมด้วย  ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการผัด  การทอด   อาหารที่มีรสเผ็ด หรือรสจัด  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์  หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว  ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก, น้ำเกลืออุ่นๆ  หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ  เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี  อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ และมีจำนวนแบคทีเรียในคอเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้คออักเสบมากขึ้นได้
  3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอ  ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น การดื่มหรืออาบน้ำเย็น  การรับประทานไอศกรีม ควรดื่มหรืออาบน้ำอุ่น เนื่องจากเหตุผลในข้อ 1 และควรปิดปาก และจมูก เวลาไอ หรือจามด้วยผ้าเช็ดหน้า  ควรดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ในช่วงที่ไม่สบาย ควรมีแก้วน้ำอยู่ข้างๆตัวตลอด ไม่ว่าจะทำงาน  ดูโทรทัศน์  อ่านหนังสือ  ฟังเพลง ควรจิบน้ำไปเรื่อยๆ เนื่องจากน้ำเป็นยาละลายน้ำมูก หรือเสมหะที่ข้นเหนียวได้ดีที่สุด
  4. ถ้าผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบแห้ง ควรลดการใช้เสียงชั่วคราวไม่ควรตะเบ็งเสียง หรือตะโกน
  5. ผู้ป่วยควรหาสาเหตุที่ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันในครั้งนี้ด้วย เนื่องจาก ถ้าเรายังมีภูมิต้านทานต่อโรคดี เรามักจะไม่ป่วย  เมื่อใดป่วย แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันตามมาได้แก่ เครียด  นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ   ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  การหาสาเหตุเหล่านี้มีความสำคัญ ถ้าเราไม่ได้หา และไม่หลีกเลี่ยง หรือแก้ไข นอกจากจะทำให้หายช้าแล้ว  อาจทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจซ้ำได้อีก
  6. ควรงดสูบ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่  งดการว่ายน้ำ หรือดำน้ำ เพราะอาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้อีก
  7. ควรพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสภาพฟัน และรับการรักษาทุก 6 เดือน เนื่องจากการที่มีสุขภาพฟันที่ไม่ดีเช่น มีฟันผุ  มีคราบหินปูน หรือโรคเหงือก อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย หรือ เป็นๆ หายๆ
  8. ควรดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้  หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด  มีฝุ่นละออง  ควัน  สารเคมี  มลพิษ ที่ซึ่งมีอากาศเย็นจัด หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว   ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก  ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ   นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน  เนื่องจากอาจรับเชื้อโรคใหม่จากบุคคลดังกล่าว ทำให้อาการแย่ลงไปอีกได้   เมื่ออาการทุกอย่างดีขึ้นแล้วหลังการรักษา ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นต่ออีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้อาการดังกล่าวกลับเป็นซ้ำอีก 
  9. ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการจะเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันซ้ำอีก  ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำลง (ข้อ 5) และหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) อย่างน้อยวันละ 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

 แต่ถ้าสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่หายภายใน 7 – 10 วัน มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา  ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านจุลชีพ ซึ่งแพทย์นิยมสั่งยาต้านจุลชีพชนิดรับประทานให้แก่ผู้ป่วยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่  Streptococcus pneumoniae, Hemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis

การปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม  เมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน  นอกจากจะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นเร็ว และอาการไม่แย่ลงแล้ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นลามออกไป หรือมีผลแทรกซ้อน หรือแพร่กระจายไปยังผู้อื่น และยังลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย 

 

Last update: 16 เมษายน 2552