เยื่อแก้วหูอักเสบเฉียบพลัน
(Acute Myringitis)
ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การอักเสบของเยื่อแก้วหู อาจพบได้ โดยเป็นการอักเสบที่เยื่อแก้วหูอย่างเดียว หรืออาจพบร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางก็ได้ อาจเกิดภายหลังการบาดเจ็บ เช่น การแคะหู หรือเขี่ยหู หรือภายหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ใหญ่หรือเด็กก็เป็นได้ สาเหตุอาจเกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย (เช่น b-hemolytic streptococcus), pneumococci, mycoplasma pneumoniae หรือไวรัส (เช่น influenza)
อาการ
- ปวดหู เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นอาการสำคัญที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาการปวดอาจจะรุนแรงหรือไม่ก็ได้ ผู้ป่วยเด็ก ถ้าปวด มักจะร้องตลอดเวลา ไม่ยอมหลับ และมักปวดตอนกลางดึก อาจมีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู
- ไข้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้
- หูอื้อ ผู้ป่วยอาจรู้สึกตื้อๆในช่องหู คล้ายได้ยินไม่ค่อยชัด
อาการแสดง
เยื่อบุแก้วหูส่วนที่มีการอักเสบจะมีสีแดง เนื่องจากมีเลือดมาคั่งบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจพบตุ่มน้ำบนเยื่อบุแก้วหู น้ำที่ขังอยู่ในตุ่มน้ำ มักมีสีเหลือง ถ้าเส้นเลือดภายในแตก อาจมีสีแดงอ่อนได้
การรักษา
- ยาต้านจุลชีพ: ในรายที่สงสัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ถ้าสงสัยว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การอักเสบของเยื่อบุแก้วหูดังกล่าวมักหายได้เอง
- ยาหยอดหู: ถ้าสงสัยว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจหยอดยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาต้านจุลชีพ และอาจเลือกยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาชาด้วย เพื่อลดอาการปวด
- ยาแก้ปวด และลดไข้ หรือบรรเทาอาการ
ถ้าผู้ป่วยมีตุ่มน้ำบนเยื่อแก้วหู ตุ่มน้ำดังกล่าว มักจะแตกออกได้เองประมาณ 2-3 วันหลังเกิดโรค ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาก อาจเจาะตุ่มน้ำให้แตกออก เพื่อลดอาการปวดได้
Last update: 22 ตุลาคม 2552