หลักการใช้ยาในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- การกินยาลดกรด [เช่น omeprazole (miracid®), esomeprazole (nexium®), rabeprazole (pariet®), lansoprazole (prevacid®), alum milk, antacid tablet] เป็นการลดปริมาณกรดที่จะไหลย้อนขึ้นไป การกินยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด [เช่น domperidone (motilium-M®, mirax-M®), itopride (ganaton®), mosapride (gasmotin®)] เป็นการลดการไหลย้อนของกรด ยาทั้งสองชนิดทำให้อาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนน้อยลง แต่การกินยาลดกรดและยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อหยุดกินยาดังกล่าว และผู้ป่วยมีเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมา ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการอีกดังเดิม ดังนั้นผู้ป่วยจะลดการใช้ยาทั้งสองชนิดดังกล่าวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย คือ
1.1) ผู้ป่วยต้องรู้ว่าเหตุอะไรที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น ต้องหลีกเลี่ยงโดยการสังเกตว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการของกรดไหลย้อน ก่อนหน้านั้นภายใน ½ - 1 ชั่วโมง ต้องมีเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เพราะอาการกรดไหลย้อนย่อมเกิดจากเหตุ (ไม่มีเหตุ ผลย่อมไม่เกิด) ถ้าผู้ป่วยไม่ทราบว่าเหตุนั้นคืออะไร เมื่อมีเหตุอยู่เรื่อยๆ ผลก็คือผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนเรื่อยๆ และต้องกินยารักษาอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าผู้ป่วยทราบว่าเหตุที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาคืออะไร (จากการสังเกต) และเหตุนั้น ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงได้ อาการกรดไหลย้อนซึ่งเป็นผลก็จะไม่เกิด ทำให้ไม่ต้องใช้ยารักษา การสังเกตให้เห็นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้เกิดอาการนั้น (เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ) แต่ถ้าเหตุนั้นเป็นเหตุที่ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยควรทำใจยอมรับว่า เมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ผลหรืออาการกรดไหลย้อนก็ต้องเกิด ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาลดกรด หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดในการบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
เหตุอะไรที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้แก่
- กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ
-กินอาหารที่ไม่แนะนำให้กินโดยเฉพาะอาหารมันๆ อาหารที่ปรุงด้วย การผัด และการทอดทุกชนิด, นมที่ไม่ใช่นมไร้ไขมัน (ไขมัน =0%), น้ำเต้าหู้, ชา และกาแฟ, ไข่แดง, น้ำอัดลม
- น้ำหนักตัวที่เพิ่ม หรือ เกินค่าปกติ
- ท้องผูก
- ขาดการออกกำลังกาย
1.2) ผู้ป่วยต้องรู้ว่าสิ่งใดทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือน้อยลง ต้องปฏิบัติได้แก่
- กินอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนการกินอาหารที่มากเกินไปในแต่ละมื้อ
-หลีกเลี่ยงการกินอาหารมันๆ อาหารที่ปรุงด้วย การผัด และการทอดทุกชนิด, นมที่ไม่ใช่นมไร้ไขมัน (ไขมัน =0%), น้ำเต้าหู้, ชา และกาแฟ, ไข่แดง, น้ำอัดลม
- ลดน้ำหนักตัว ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินค่าปกติ หรือพยายามไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
- พยายามไม่ให้เกิดอาการท้องผูก โดยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น (ดื่มน้อยๆแต่บ่อยๆ), กินผัก ผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้น, ออกกำลังกายแบบแอโรบิก [คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้เช่น ใน FITNESS), เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล] อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
- เมื่อผู้ป่วยปฏิบัติตามข้อ 1.1) และ 1.2) ได้แล้ว ก็ควรค่อยๆ ลดการใช้ยาลง ดังนี้
2.1) ถ้าแพทย์ให้ผู้ป่วยกินยาลดกรด และยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดแล้ว 2-4 สัปดาห์ อาการผู้ป่วยดีขึ้น ควรลดยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดก่อน แล้วจึงพิจารณาลดยาลดกรดลงภายหลัง
2.2) ถ้าใช้ยาตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว 1-3 เดือน แล้วผู้ป่วยมีอาการไม่มากขึ้นหลังลดยา แสดงว่าผู้ปฏิบัติตามข้อ 1.1) และ 1.2) ได้ดีพอสมควร ก็อาจพิจารณาหยุดยาทั้งหมด และใช้ยาลดกรด และ/ หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด เวลามีอาการกรดไหลย้อน
2.3) หลังผู้ป่วยหยุดยารักษาโรคกรดไหลย้อนแล้ว ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะหายขาด เมื่อมีเหตุข้อ 1.1) อีก ผลคือ อาการกรดไหลย้อนก็ต้องเกิด ผู้ป่วยก็อาจพิจารณาใช้ยารักษาเวลามีอาการดังกล่าว
2.4) ถ้าผู้ป่วยกินยาลดกรด และยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด แล้วอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น เหตุในข้อ 1.1) อาจจะมากกว่ายาที่ผู้ป่วยกิน ดังนั้นทุกครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อน ควรพยายามหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนด้วยเสมอ ถ้าผู้ป่วยลดสาเหตุดังกล่าวได้ อาการของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นได้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุดังกล่าวได้ ก็อาจจำเป็นต้องแก้ปลายเหตุโดยกินยาลดกรด และ/หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดมากขึ้น เช่น เดิมกินยาลดกรด 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร อาจต้องเพิ่มเป็นกินยาลดกรด 2 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร หรือเดิมกินยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร อาจต้องเพิ่มเป็นกิน 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร เป็นต้น
2.5) การกินยาลดกรด และ/หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรด เวลามีอาการกรดไหลย้อนนั้น จะกินเป็นระยะเวลานานเพียงใดขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้าเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนหมดไป ก็สามารถหยุดยาได้ แต่ถ้าเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนยังคงอยู่ เมื่อหยุดยาอาการของกรดไหลย้อนก็จะกลับมาเป็นอีก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาการกรดไหลย้อนของผู้ป่วยยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อมีเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อน ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ผู้ป่วยจึงควรมียาลดกรด และยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารในการกำจัดกรดติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เมื่อมีเหตุ จะได้มียาไว้ใช้ทันท่วงที เท่านี้ผู้ป่วยก็จะอยู่กับโรคกรดไหลย้อนได้อย่างมีความสุขตลอดไป
Last update: 31 สิงหาคม 2555