อาการทางคอเรื้อรัง.....เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

อาการทางคอเรื้อรัง.....เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


อาการทางคอที่เรื้อรัง หรือไม่หาย ไม่ว่า ปวด แสบ เจ็บ หรือระคายบริเวณคอ, แสบลิ้น, มีกลิ่นเหม็นในคอ, กลิ่นปาก, คอแห้ง หรือระคายคอ, กลืนติดๆ ขัดๆ, กลืนลำบาก, มีเสมหะปนเลือด, มีเสมหะในคอ, เสียงแหบ เสียงผิดปกติ หรือเพี้ยนไป, แน่นคอ, รู้สึกคล้ายมีอะไรติดๆ อยู่ในลำคอ หรือคล้ายมีก้อน หรือสิ่งแปลกปลอมในคอ.....เป็นอาการทางคอที่พบได้บ่อย และไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพของช่องปาก, ผนังช่องคอ, ต่อมทอนซิล, ลิ้นไก่, เพดานแข็ง, เพดานอ่อน, โคนลิ้น, กล่องเสียง ... จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของจมูก และไซนัส และลำคอหลายโรค (เนื่องจากช่องจมูก และคอต่อกัน อาการทางคอ อาจมีสาเหตุมาจากโรคของจมูก และ/หรือไซนัสก็ได้) เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นอาการที่ผู้ป่วยบอกกับแพทย์ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัย การส่องกล้องตรวจภายในจมูกและลำคอ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น

สาเหตุของอาการทางคอ

  1. การติดเชื้อในคอเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อวัณโรค, เชื้อรา, เชื้อไวรัสเอดส์, เชื้อโรคเรื้อน, เชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อแบคทีเรียก็ได้ เช่น จากโรคคออักเสบ, โรคต่อมทอนซิลอักเสบ, โรคฝีรอบต่อมทอนซิล, โรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ, โรคคอตีบ, โรคกล่องเสียงอักเสบ, โรคหลอดลมอักเสบ
  2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง
  3. โรคไซนัสอักเสบ (sinusitis) จากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็ได้
  4. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
  5. สิ่งแปลกปลอม (foreign body) ที่ค้างอยู่ในอวัยวะต่างๆของลำคอ และกล่องเสียง
  6. เนื้องอก (tumor) ชนิดธรรมดา หรือชนิดร้าย ของอวัยวะต่างๆในลำคอ และกล่องเสียง
  7. การใช้เสียงมากเกินควร, สายเสียงอักเสบเรื้อรัง
  8. โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคออักเสบ
  9. การสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองคอ และกล่องเสียงเป็นระยะเวลานาน เช่น ควัน, ฝุ่น, สารเคมี, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์, อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด, เค็มจัด, หวานจัด, เผ็ดจัด
  10. เยื่อบุลำคอ และกล่องเสียงอักเสบ จากการฉายแสง หรือการได้ยาเคมีบำบัด
  11. การคาท่อให้อาหารจากจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือคาท่อช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน
  12. ขี้ไคลต่อมทอนซิล

การรักษา อาจทำได้โดยการรับประทานยา, ผ่าตัด, ฉายแสง, ให้ยาเคมีบำบัด แล้วแต่สาเหตุ

Last update: 15 สิงหาคม 2559