เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ในการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

(Inspire® Upper Airway Stimulation Therapy)

 

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            

 

 

              อาการนอนกรน (snoring) เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน  เสียงของการกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลง   เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น  ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลง อาจเกิดจากโพรงจมูกอุดตัน หรือการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน, ลิ้นไก่, ผนังคอหอย หรือโคนลิ้น 

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (obstructive sleep apnea: OSA) เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ  ขณะผู้ป่วยนอนหลับ เมื่อมีทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น จะมีการลดการกระตุ้นต่อกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ลิ้นและเนื้อเยื่ออ่อนในทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนตัว อุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้อากาศที่หายใจเข้าลงสู่ปอดได้น้อยลง (รูปที่ 1)  ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง ซึ่งจะไปกระตุ้นสมองปลุกให้ร่างกายตื่นขึ้น เพื่อทำให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินหายใจส่วนบนกลับคืนมา  ทำให้หายใจเข้าปอดได้อย่างพอเพียง ซึ่งผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจระดับหลังโคนลิ้นนั้น  เมื่อมีการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อลิ้น genioglossus ซึ่งเลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 จะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวหดตัว   ทำให้ลิ้นมีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทำให้ทางเดินหายใจระดับหลังโคนลิ้นกว้างขึ้น (รูปที่ 2)

                เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาท (neurostimulator) นี้ (รูปที่ 3)  เป็นเครื่องมือที่ผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยีของเครื่องกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ (cardiac pacemakers) และเครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาท (neuro-stimulation) เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ กระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ผ่านทางสายกระตุ้นเส้นประสาท (stimulation lead) โดยจะมีตัวรับสัญญาณการหายใจเข้า-ออกอยู่ที่ผนังทรวงอก [สายรับรู้การหายใจ (sensing lead)] ซึ่งตัวรับสัญญาณและตัวปล่อยกระแสไฟฟ้านั้น ทำงานสัมพันธ์กับสรีรวิทยาของร่างกายผู้ป่วย ในการหายใจแต่ละรอบ      เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทสมองนี้จะรับรู้การหายใจของผู้ป่วย และกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ซึ่งเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ควบคุมเกี่ยวกับความกว้างของทางเดินหายใจของผู้ป่วยขณะหลับ คือ กล้ามเนื้อบริเวณโคนลิ้น ป้องกันไม่ให้ลิ้นตกมาอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ไม่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ โดยผู้ป่วยสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องดังกล่าวได้

การรักษาวิธีนี้เป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งปฏิเสธการใช้ เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน [continuous positive airway pressure (CPAP)]หรือทนผลข้างเคียงของ CPAP ไม่ได้  ถึงแม้ CPAP เป็นการรักษามาตรฐานของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  แต่ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ใช้ CPAP ได้อย่างสม่ำเสมอ   การฝังเครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทนี้ แพทย์จะลงแผลผ่าตัดทั้งหมด 3 แผลด้วยกัน

1. แผลผ่าตัดแรกในแนวนอนบริเวณคอส่วนบนใต้ต่อต่อมน้ำลายที่อยู่ล่างต่อขากรรไกรล่าง เพื่อนำ สายกระตุ้นเส้นประสาท ไปวางบนแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12  ถ้าวางในตำแหน่งที่ถูกต้อง เวลากระตุ้นจะเห็นลิ้นเคลื่อนตัวไปข้างหน้า

2. แผลผ่าตัดที่สองในแนวนอนบริเวณทรวงอกข้างเดียวกันกับแผลแรก บริเวณช่องระหว่างกระดูกซี่โครงช่องที่ 4 เพื่อวาง สายรับรู้การหายใจ

3. แผลผ่าตัดที่สาม ในแนวนอนใต้ต่อกระดูกไหปลาร้าประมาณ 2-4 ซม. ข้างเดียวกับแผลที่ 2 และ 3 เพื่อใส่เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาท และเชื่อมต่อกับทั้ง สายกระตุ้นเส้นประสาท และ สายรับรู้การหายใจ

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ได้แก่

-  รู้สึกไม่สบายตรงที่มีสาย หรือเครื่องอยู่

- ปวดแผล และกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ

- อาจมีเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ทำงานผิดปกติชั่วคราว  ทำให้ลิ้นมีการอ่อนแรง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 2-4 สัปดาห์

- รู้สึกไม่สบาย เวลาเครื่องทำงานกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12

- เจ็บลิ้น มีแผลด้านล่างของลิ้น ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นให้ลิ้นมีการเคลื่อนไหว และอาจไปสัมผัสกับฟันล่าง ซึ่งผลข้างเคียงนี้มักจะดีขึ้น หลังจากผู้ป่วยคุ้นเคยกับเครื่อง และมีการปรับการกระตุ้นแล้ว  บางรายถ้าเป็นมาก อาจใช้ที่ครอบฟัน หรือฟันยางสวมใส่เวลานอนช่วย

- การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด

- เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทนั้นมีความไวมากผิดปกติ ทำให้กระตุ้นบ่อยและถี่เกินไป

 

ข้อควรระวัง           - ไม่ควรให้เครื่องมืออยู่ใกล้เครื่องมือที่สามารถปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้

 

ข้อดี คือ                   - ไม่ต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปหน้าหรือโครงสร้างทางกายวิภาคของผู้ป่วยอย่างถาวร

 

                ล่าสุดได้มีการศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาวิธีนี้ในผู้ป่วย 126 ราย ในโรงพยาบาลชั้นนำในทวีปอเมริกาและยุโรป 22 แห่ง พบว่า จากการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ฝังเครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 มีการลดลงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวนี้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ในประเทศในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศในทวีปอเมริกา ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา และยังไม่ได้มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

 

_______________________________________________________________________________

 

Last update: 7 มีนาคม 2557