ยาต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) และโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีการอักเสบเรื้อรัง
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคจมูกและไซนัสที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) โรคไซนัสอักเสบที่มีหรือไม่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย (rhinosinusitis with or without nasal polyp) ซึ่งโรคต่างๆ ดังกล่าวนั้น เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก และ/หรือไซนัส การรักษาที่เป็นมาตรฐานสำหรับโรคจมูกและไซนัสดังกล่าวคือ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (intranasal steroids) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ดีที่สุด
ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์โดยควบคุมการสังเคราะห์โปรตีน เมื่อพ่นยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเข้าไปในโพรงจมูก ยาสเตียรอยด์จะผ่านเข้าไปในเซลล์ และไปจับกับตัวรับสเตียรอยด์ แล้วเข้าไปนิวเคลียสของเซลล์ และมีผลต่อการสังเคราะห์โปรตีนที่ยับยั้งเซลล์ และการหลั่งสารเคมี ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากการศึกษาทางคลินิก พบว่าการให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกนั้น ทำให้อาการต่างๆของโรคจมูกและไซนัสดังกล่าวดีขึ้นเพียงร้อยละ 40-50 การที่ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไม่สามารถบรรเทาอาการต่างๆของโรคจมูกและไซนัสได้ร้อยละ 100 นั้น อาจเกิดจากเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยที่บวม ทำให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไม่สามารถเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกและ/หรือไซนัสที่อักเสบนั้นได้ดีเพียงพอ ทำให้ผลของการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไม่ดีมากนัก
ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เป็นยาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายชนิดหนึ่ง โดยใช้เพื่อลดอาการคัดจมูกเป็นหลัก แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใช้พ่น หรือหยอดจมูก (topical nasal decongestant) และชนิดที่ใช้กิน ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่น หรือหยอดจมูกแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- Imidazoline derivatives ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ oxymetazoline, xylometazoline, tetrahydrozoline และ naphazoline เป็นต้น
- Beta phenylethylamine derivatives ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ephedrine, phenylephrine เป็นต้น
ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกนี้ ออกฤทธิ์โดยทำให้หลอดเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว ทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมลง ทำให้อาการคัดจมูกของผู้ป่วยดีขึ้น ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดกิน คือออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-10 นาทีหลังพ่นหรือหยอดยา อย่างไรก็ตาม หลังใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก เมื่อฤทธิ์หดหลอดเลือดหมดไป เยื่อบุจมูกอาจกลับมาบวมใหม่ได้ เนื่องจากมีการขยายตัวของหลอดเลือดกลับมาเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม (rebound vasodilation) ทำให้มีอาการคัดจมูกขึ้นมาอีก ผู้ป่วยก็จะใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกนี้อีก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้บ่อยกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ป่วยใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกนี้ต่อเนื่องกันนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อบุจมูกอักเสบจากยา (rhinitis medicamentosa) ได้ จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกนี้นานเกินไป
การให้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ก่อนพ่นยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมอย่างรวดเร็ว (ภายใน 5 นาที) และทำให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกและ/หรือไซนัสที่อักเสบได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคจมูกและไซนัสดีขึ้น นอกจากนั้น ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย (anti-inflammatory activity) ด้วย ซึ่งอาจจะเสริมฤทธิ์กับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ทำให้ประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบของเยื่อบุจมูกและ/หรือไซนัสดีขึ้น
การศึกษาการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
Baroody และคณะในปี ค.ศ. 2011 ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก, ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเดี่ยวๆ, ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกเดี่ยวๆ และ ยาหลอก (placebo) ในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เป็นระยะเวลา 28 วัน Meltzer และคณะในปี ค.ศ. 2013 ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก, ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเดี่ยวๆ, ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกเดี่ยวๆ และ ยาหลอก ในการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นระยะเวลา 15 วัน ทั้ง 2 การศึกษาดังกล่าวข้างต้นพบว่า การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ร่วมกับ ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก จะทำให้อาการต่างๆของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ดีขึ้นมากกว่าการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเดี่ยวๆ หรือ ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกเดี่ยวๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไม่เกิดเยื่อบุจมูกอักเสบจากยา หลังจากหยุดยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก
ต่อพงษ์ ทองงาม และคณะในปี ค.ศ. 2016 ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก + ยาต้านฮิสทามีน และ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาต้านฮิสทามีน ในการรักษาผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinitis) เป็นระยะเวลา 28 วัน พบว่า การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ร่วมกับ ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก จะทำให้อาการคัดจมูกของผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังดีขึ้นมากกว่าการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเดี่ยวๆ และเมื่อเปรียบเทียบการตอบสนองต่อการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ร่วมกับ ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก พบว่า ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้คือ มีอาการคัดจมูกลดลงมากกว่า และการให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ร่วมกับ ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ไม่ได้ทำให้เกิดเยื่อบุจมูกอักเสบจากยา หลังจากหยุดยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก
การศึกษาการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในการรักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย
วิรัช เกียรติศรีสกุล และคณะในปี ค.ศ. 2016 ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก และ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหลอก ในการรักษาผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีริดสีดวงจมูก (chronic rhinosinusitis with nasal polyp) เป็นระยะเวลา 28 วัน พบว่าการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ทำให้อาการต่างๆ ของผู้ป่วย (เช่น อาการคัดจมูก, จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อย) และขนาดของริดสีดวงจมูก (polyp size) ลดลง และปริมาตรลมที่ผ่านเข้า-ออกจากจมูก และการทำงานของขนกวัดที่เยื่อบุจมูก (nasal mucociliary clearance time) ดีขึ้นมากกว่า การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เพียงชนิดเดียว หลังจากให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วหยุดให้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก แต่ยังคงให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกต่อเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็ไม่พบอาการของเยื่อบุจมูกอักเสบจากยา หรือการกลับมาคัดจมูกมากขึ้น หลังจากหยุดยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก
โดยสรุป ประโยชน์ของการให้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ในการรักษาโรคจมูกและ/หรือไซนัส
- เนื่องจากยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ออกฤทธิ์เร็ว (ภายใน 3-15 นาที) และอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูก + ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก จะทำให้อาการของผู้ป่วยโรคจมูกและ/หรือไซนัสดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเพียงชนิดเดียว เนื่องจากยาสเตียรอยด์พ่นจมูกออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จึงใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือหลายวันกว่ายาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะออกฤทธิ์
- ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบร่วมด้วย (anti-inflammatory properties) ซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในการรักษาโรคจมูกและ/หรือไซนัส
- ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จะช่วยป้องกันการเกิดเยื่อบุจมูกอักเสบจากการที่ใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูกเป็นระยะเวลานาน (rhinitis medicamentosa)
- ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก จะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกและ/หรือไซนัสที่อักเสบ หรือริดสีดวงจมูก (ถ้ามี) ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก อาจเกิดผลข้างเคียงได้ (ซึ่งพบได้น้อยมาก เพราะใช้เป็นยาพ่นจมูกเฉพาะที่) เช่น ปวดศีรษะ, ง่วง, ความดันโลหิตสูง, ใจสั่น, หัวใจเต้นเร็ว หรือแม้แต่การกดการหายใจ และยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในระยะยาว ( > 4 สัปดาห์) และในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งการรักษาโรคจมูกและ/หรือไซนัสนั้น ส่วนใหญ่การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ และแพทย์ไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยใช้ยาดังกล่าวเป็นระยะเวลานานตลอดชีวิต การตัดสินว่าผู้ป่วยโรคจมูกและ/หรือไซนัสตอบสนองต่อยาหรือไม่ ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ หลังจากให้ยาเต็มที่ หลังจากนั้นไม่ว่าอาการผู้ป่วยจะดีขึ้น หรือยังไม่ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ หรือใช้ยาแล้วอาการดีขึ้น แต่ไม่สามารถลดยาหรือหยุดยาได้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาดังกล่าวลง และให้ใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้น และอาจแนะนำการรักษาทางเลือกอื่นๆต่อไป เช่น การผ่าตัด, การฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่อาการยังไม่ดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ หรือใช้ยาแล้วดีขึ้น แต่ไม่สามารถลดยาหรือหยุดยาได้ และไม่ประสงค์จะใช้ยาแล้ว
ดังนั้นการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดที่ใช้พ่นจมูก ร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคจมูกและ/หรือไซนัส โดยเฉพาะรายที่ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ร่วมกับยาต้านฮิสทามีน, ยาต้านลิวโคไตรอีน, การล้างจมูก และการสูดไอน้ำร้อน แล้วยังมีอาการคัดจมูก หรืออาการอื่นๆอยู่ และผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้ หรือการผ่าตัด หรือการรักษาทางเลือกอื่นๆ
Last update: 1 กันยายน 2559