สายเสียงอักเสบ และวิธีถนอมเสียง

 

ผศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

    


   



         การเกิดเสียงพูด เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร   กล่องเสียง เป็นทางผ่านของอากาศจากปอดไปสู่ทางเดินหายใจส่วนบน  ตั้งอยู่ภายในบริเวณลำคอใต้ช่องปากลงไปซึ่งในผู้ชายจะเห็นชัดคือส่วนที่เราเรียกว่า ลูกกระเดือก  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล่องเสียงนั่นเอง     กล่องเสียง ประกอบด้วย กระดูกอ่อนและกล้ามเนื้อหลายชิ้นทำงานร่วมกับสายเสียง ซึ่งขึงตึงจากด้านในของลูกกระเดือกไปยังส่วนหลังของกล่องเสียง    เสียงพูดเกิดจากลมหายใจออก ที่ผ่านออกจากปอดและหลอดลมไปยังสายเสียง     ช่วงที่เราพูด กล้ามเนื้อของสายเสียงจะดึงสายเสียงให้เข้ามาชิดกัน  ลมจากปอดนี้จะดันให้สายเสียงเปิด – ปิด แยกออกเป็นจังหวะ มีผลให้สายเสียงเกิดการสั่นสะเทือน   ถ้าสายเสียงสั่นสะเทือน ด้วยความถี่สูง  เสียงจะสูง    ถ้าสายเสียงสั่นสะเทือน ด้วยความถี่ต่ำ  เสียงจะทุ้ม   เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือน ของสายเสียงเพียงอย่างเดียว จะมีแต่เสียงสูงต่ำ  จนเมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของอวัยวะที่อยู่เหนือสายเสียงคือ อวัยวะในช่องคอ และช่องปาก เช่น  ลิ้น   ฟัน   เพดาน ก็จะทำให้เกิดเป็นเสียงพูด    จะเห็นได้ว่าสายเสียงเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างเสียง  หากเกิดปัญหากับสายเสียง เช่น ใช้เสียงผิดวิธี หรือ เกิดการติดเชื้อของสายเสียง  จะทำให้เกิดสายเสียงอักเสบ  บวมแดง  เกิดตุ่มที่สายเสียง  (vocal nodule) สายเสียงก็จะไม่สามารถผลิตเสียงที่มีคุณภาพดีๆได้  ทำให้เกิดเสียงแหบแห้ง หรือเสียงหายตามมา 

         เมื่อสายเสียงอักเสบ  จะทำให้สายเสียงบวม  และเข้ามาประชิดกันไม่สนิทในขณะพูด    เกิดเสียงแหบ หรือมีลมเเทรก    สายเสียงอักเสบ นี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นไข้หวัด  เจ็บคอ  ไอ  สูบบุหรี่  ดื่มสุราจัด หรือใช้เสียงมากเกินไป   สายเสียงอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. สายเสียงอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วคราว (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) และผู้ป่วยมักจะดีขึ้นหลังให้การรักษาสาเหตุ
  2. สายเสียงอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ และมักจะเป็นๆหายๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

สายเสียงอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรีย  เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อวัณโรค    ส่วนใหญ่ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส  เช่น เมื่อเป็นหวัด ก็จะมีการอักเสบของบริเวณช่องจมูกและภายในคอ   การอักเสบนี้อาจลามต่อไปถึงกล่องเสียงและสายเสียง ทำให้สายเสียงอักเสบ   ส่วนใหญ่เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส  จะทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียง อยู่นาน 1-3 สัปดาห์  แต่เชื้อรา และเชื้อวัณโรค จะทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียงนานเป็นแรมเดือน  บางรายอาจมีอาการไข้  ไอเรื้อรัง  น้ำหนักลดร่วมด้วย
- การได้รับแรงกระแทกบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้สายเสียงอักเสบ   หรือการหายใจเอาไอร้อนจัด สารเคมี หรือ แก๊สที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เข้าไป อาจทำให้สายเสียงอักเสบได้   
- การใช้เสียงที่ผิดวิธี จนติดเป็นนิสัย เช่น ชอบตะโกน หรือใช้เสียงมากและนานเกินไป  อาจทำให้สายเสียงอักเสบได้   เช่น นักร้องช่วงงานชุก,  นักการเมืองช่วงหาเสียง,  นักเทศน์,  นักพูดที่ต้องพูดนาน
- การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น จากการไอเรื้อรัง, สูบบุหรี่,  ดื่มสุรา,   น้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนไปที่กล่องเสียง ไปสัมผัสสายเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้สายเสียงอักเสบได้     ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบ  เจ็บคอ หลังตื่นนอนตอนเช้า  พอสายๆ ก็ทุเลาไปเอง โดยไม่ได้มีอาการเป็นไข้หวัด แต่อย่างใด, ไซนัสอักเสบเรื้อรัง แล้วมีน้ำมูก หรือหนองไหลลงคอ ไประคายเคืองสายเสียง, การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน เป็นประจำ

อาการ

-  เสียงแหบ  บางรายอาจเป็นมากจนถึงขั้นไม่มีเสียง  อาจมีอาการหลังเป็นไข้หวัด  เจ็บคอ หรือไอ ถ้าเกิดจากการระคายเคือง ก็มักมีอาการเสียงแหบหลังสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด   ถ้าเกิดจากการใช้เสียง ก็มักมีอาการเสียงแหบหลังจากร้องเพลงมาก หรือพูดมาก
- เจ็บคอ, คอแห้ง, รู้สึกคล้ายมีอะไรอยู่ในคอ, กลืนลำบาก  หรือกลืนเจ็บ
- ระคายคอ, ไอ, กลืนลำบาก
- หายใจลำบาก หรือติดขัดโดยเฉพาะในเด็ก

การตรวจวินิจฉัย    

         เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะซักถามอาการต่างๆ  จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกาย โดยใช้ กระจกเงาสะท้อนแสง ใส่เข้าไปในปาก เพื่อดูว่าสายเสียงของท่านผิดปกติหรือไม่  บวมหรือไม่  มีก้อนหรือไม่  ทดสอบการทำงานของสายเสียง โดยให้ร้องคำว่า อี อี ( indirect  laryngoscopy )
ถ้าดูแล้ว ยังสงสัย หรือเห็นไม่ชัด  แพทย์ก็จะใช้เครื่องมือพิเศษ คือกล้องส่องที่มีเลนส์ขยายพิเศษ ใส่เข้าทางปากเพื่อดูรายละเอียดของสายเสียง (telescopy)  แต่ถ้าดูยังไม่ชัด  แพทย์อาจใช้กล้องชนิดพิเศษ ที่มีสายอ่อนและ มีเลนส์ขยายใส่เข้าทางจมูก (fiber- optic laryngoscopy) ซึ่งจะทำให้เห็นสายเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น   การตรวจทั้งหมดนี้ ไม่เจ็บ เพราะ แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ ก่อนตรวจ   ถ้าแพทย์พบก้อนที่ผิดปกติบนสายเสียง แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเล็กๆออกมาเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติม

การรักษาสายเสียงอักเสบ 

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- งดบุหรี่ สุรา กาแฟ น้ำอัดลม และพักการใช้เสียง จนกว่าอาการจะทุเลา
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ , หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่อสายเสียงเช่น ฝุ่น,ควัน
- รับประทานยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ
- สูดไอน้ำร้อน

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
- ถ้าเกิดจากไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่) แพทย์จะให้ยาบรรเทาตามอาการ  เพราะส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเอง
- ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย (เสมหะข้นเหลือง หรือเขียว  หรือมีทอนซิลอักเสบบวมแดง) แพทย์จะให้ยาต้านจุลชีพ
- ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง (เช่น บุหรี่  สุรา  การใช้เสียง)
- ในรายที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน  แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรด และแนะนำการปฎิบัติตัวที่ถูกต้อง
- ถ้าเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อวัณโรค แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อรา หรือยารักษาเชื้อวัณโรค
- ถ้าผู้ป่วยมีตุ่มที่สายเสียง (vocal nodule) ซึ่งเกิดจากการใช้เสียงมากผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเอาตุ่มดังกล่าวออก  ถ้าผู้ป่วยฝึกการพูด และการใช้เสียงแล้วอย่างน้อย 3 เดือน และอาการเสียงแหบยังไม่ดีขึ้น
- แพทย์อาจให้รับประทานยาสเตียรอยด์ ระยะเวลาสั้นๆ  เพื่อลดการบวม และการอักเสบของสายเสียง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการใช้เสียงอย่างเร่งด่วนเช่น จะต้องไปร้องเพลง หรือบรรยาย

         การรักษาสายเสียงอักเสบ  หายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดสายเสียงอักเสบ  เช่น ถ้าสายเสียงอักเสบ  จากการเป็นหวัด หรือการอักเสบของสายเสียงจากเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อรา, เชื้อวัณโรค  หรือเชื้อไวรัส  สามารถหายได้  แต่สายเสียงอักเสบ  ในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น ครู  นักเรียน  นักแสดง  นักร้อง   การรักษาโดยการให้ยาอย่างเดียว ย่อมไม่ได้ผลเต็มที่ จำเป็นต้องหยุดพักการใช้เสียงร่วมด้วย และต้องปรับปรุงการใช้เสียงให้ถูกต้อง (vocal therapy)  ยาอมให้ชุ่มคอที่โฆษณาอยู่ตามท้องตลาด มีส่วนช่วยได้บ้างในแง่ที่ทำให้ชุ่มคอ เย็นคอ  บางชนิดอาจมียาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่ด้วย ก็อาจช่วยลดการอักเสบเล็กน้อยลงได้บ้าง  แต่ถ้ามีการอักเสบมาก ยาอมอย่างเดียวก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้

         ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก โดยตรง เพื่อรับการตรวจสายเสียง  ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการของสายเสียงอักเสบที่มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเลือดปน
- มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเสียงแหบนาน เกิน 2 สัปดาห์
- มีอาการกลืนลำบาก สำลัก หายใจลำบาก มีก้อนแข็งที่ข้างคอ หรือมีน้ำหนักลดร่วมด้วย
- มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
- ได้รับการรักษาจากแพทย์ทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน

         กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ และการระคายเคือง ส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง  ส่วนน้อยที่อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบตามมา   ถ้าปฎิบัติตนไม่ถูกต้อง   ในรายที่เกิดจากการระคายเคือง เช่น บุหรี่ การใช้เสียงมากเกิน ก็อาจทำให้เกิดตุ่มที่สายเสียง (vocal nodule) ได้

การดำเนินโรค

         ผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1 สัปดาห์ หรือทุเลา หลังได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงไม่กี่วัน   ส่วนผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการใช้เสียง สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด เมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 1-3 สัปดาห์   ส่วนผู้ป่วยที่เกิดจากการระคายเคือง เช่นจากโรคกรดไหลย้อน หรือใช้เสียงผิดวิธี ก็มักจะเป็นอยู่นานตราบเท่าที่ยังสัมผัสสิ่งระคายเคืองนั้นๆ หรือเป็นๆหายๆ ไปเรื่อยๆ

การป้องกัน

หมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ระวังอย่าให้เป็นหวัด  (โดยหลีกเลี่ยงความเครียด   การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ   การโดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ  ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น    ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  และหมั่นล้างมือบ่อยๆ)  หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น การสูบบุหรี่,  ดื่มเหล้าจัด, สารเคมี,  การใช้เสียงมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเริ่มมีอาการเสียงแหบ

วิธีการถนอมเสียง
         เป็นการปฏิบัติตน เพื่อถนอมสายเสียง และลดอันตราย หรือความเสียหายต่อสายเสียง ซึ่งควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย เพื่อให้เรามีเสียงพูดไว้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะถ้าเราต้องใช้เสียงในการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพทนาย, ครู, พนักงานขายของ, พ่อค้าหรือแม่ค้า, พนักงานรับโทรศัพท์, พนักงานประชาสัมพันธ์, นักแสดง, นักร้อง หรือนักการเมือง   วิธีการถนอมสายเสียงนั้น ต้องอาศัยเวลา  ความตั้งใจจริง  ความอดทน  ความสม่ำเสมอในการฝึกปฏิบัติ  ซึ่งประกอบด้วย สิ่งที่ควรทำ 9 ข้อ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง 11 ข้อ

สิ่งที่ควรทำ

  • ควรพูดด้วยเสียงดังพอเหมาะ  ไม่ควรตะโกน  กรีดร้อง   ส่งเสียงเชียร์  หรือหัวเราะเสียงดัง
  • ควรพูดด้วยระดับเสียงสูง ต่ำ ที่เหมาะสมกับเพศ และวัยของตนเอง  ไม่ควรพูดโดยใช้เสียงสูง หรือต่ำเกินไป
  • ควรพูดแบบสบายๆ  ไม่ควรเค้นเสียงพูด หรือเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า  คอ  ไหล่  ขณะพูด
  • ควรฝึกนิสัยการหายใจที่ถูกต้องขณะพูด  โดยใช้กล้ามเนื้อท้องเป็นหลักในการหายใจ        ขณะหายใจเข้า  หน้าท้องควรจะค่อยๆ ป่องออก   ขณะหายใจออก หน้าท้องควรยุบเข้าไป     ไม่ควรพูดขณะหายใจเข้า หรือกลั้นหายใจพูด     ควรพูดขณะหายใจออก และผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน และควรหายใจเข้า และออกทางปากขณะพูด
  • ควรขยันดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ     ในผู้ใหญ่ควรดื่มวันละ 8 – 10 แก้ว   หรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน  การดื่มน้ำอุ่นจะทำให้สายเสียง และคอชุ่มชื้น และช่วยละลายเสมหะได้ดีขึ้น    ไม่ควรรับประทาน ยาแก้แพ้ชนิดง่วง และยาแก้อาการคัดจมูก (ยาหดหลอดเลือด เช่น pseudoephedrine) ซึ่งจะทำให้สายเสียง และคอแห้ง
  • ควรเข้าไปใกล้ผู้ฟังในขณะพูด เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดเสียงดัง
  • ควรหาอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้ที่มีอาชีพต้องใช้เสียง เช่น ไมโครโฟน  จะได้ไม่ต้องตะโกนหรือ  ตะเบ็งเสียงขณะพูด
  • ถ้ารู้สึกแน่นๆ ในคอ  เจ็บคอ  ควรหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไป (steam inhalation) จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ทำให้คอโล่งขึ้น  แล้วทำให้สายเสียง และคอชุ่มชื้น
  • ถ้ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการออกเสียง หรือ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะมีอาการไอ  ควรรีบปรึกษาแพทย์

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  • หลีกเลี่ยงการพูดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ   ควรมีเวลาสำหรับหยุดพักการใช้เสียงด้วย เช่น ทุกครึ่ง ถึงหนึ่งชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการพูดแข่งกับเสียงดังอื่นๆ หรือพูดในที่ๆมีเสียงดังรบกวน เช่น  เสียงเครื่องจักร    เสียงเพลง  เสียงรถยนต์   เสียงจ้อกแจ้กจอแจต่างๆ    ถ้าจำเป็นควรเขยิบไปใกล้ๆ ผู้ฟัง หรือใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
  • หลีกเลี่ยงการร้องเพลง หรือพูดมาก ขณะป่วย, ร่างกายเหนื่อย  อ่อนเพลีย, มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  (เช่น เป็นหวัด  หรือเจ็บคอ)  หรือขณะออกกำลังกาย    หลีกเลี่ยงการพูดขณะอยู่ในสภาพจิตใจและอารมณ์ผิดปกติ  เช่น  โมโห   ตกใจ   กลัว
  • หลีกเลี่ยงการพูดกระแทกเสียง หรือเน้นคำ หรือประโยคใดๆ   หลีกเลี่ยงการกระซิบหรือ บ่นพึมพำในลำคอ
  • หลีกเลี่ยงการไอ   กระแอม   ขากเสมหะ  หรือจามบ่อย   เพราะจะทำให้สายเสียงกระทบกับอย่างรุนเเรง  ถ้ามีอาการเหล่านี้บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษา  เมื่อใดรู้สึกว่ามีเสมหะ จำเป็นต้องกระแอม  ควรกลืน หรือดื่มน้ำ  และไอ  กระแอม หรือขากเสมหะเบาๆ
  • หลีกเลี่ยงการพูดดัดเสียง หรือเลียนเสียงแปลกๆ   ควรใช้จังหวะการพูดที่ดี  ไม่พูดเร็วเกินไปจนหายใจไม่ทัน   ควรพูดช้าๆ และหยุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อหายใจ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่   ดื่มสุรา   ชา   กาแฟ  น้ำอัดลม  เครื่องดื่มที่ร้อน หรือเย็นจัดเกินไป 
  • หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับบุคคลที่กำลังสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเช่น  เผ็ดจัด   ร้อนจัด   เย็นจัด   เปรี้ยวจัด   เค็มจัด หวานหรือ มันจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำลายหรือเสมหะ เหนียวข้น  รู้สึกระคายคอ และทำให้อยากไอ  กระแอมมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง  ควันพิษ  อากาศไม่บริสุทธิ์  หรือสารเคมี  ที่ๆมีอากาศแห้ง หรือเย็นจนเกินไปเช่น ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด  เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกล่องเสียงและสายเสียงได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ หรือแก้ไอ หรือยาสเปรย์พ่นคอ ซึ่งมีส่วนผสมของยาชา เพราะจะทำให้ใช้เสียงได้มากขึ้น ทำให้การอักเสบของสายเสียงแย่ลง

ข้อควรระวังมิให้สายเสียงอักเสบ
 
         เมื่อเราได้ทราบถึงสาเหตุของสายเสียงอักเสบแล้ว ก็ควรป้องกันสาเหตุ ซึ่งบางอย่างก็ทำได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้หรือทำยาก เช่น
 
- สายเสียงอักเสบ หลังจากเป็นหวัด ก็ป้องกันไม่ให้เป็นหวัด หรือ เมื่อเป็นหวัดแล้วก็ต้องรีบรักษา โดยรับประทานยา ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้พอเพียง หรือในขณะที่อากาศร้อน อย่านอนเป่าพัดลมตรงมาที่ตัว เพราะการหายใจเอาลมที่แห้งและเย็นเข้าไปตลอดเวลา จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง และเกิดการอักเสบของสายเสียงตามมาได้ง่าย  เมื่อเป็นหวัด หรือเจ็บคอ ถ้าทำได้ควรใช้เสียงให้น้อยลง
-  ในเด็ก การเชียร์กีฬาด้วยเสียงที่ดัง เป็นการแสดงความพร้อมเพรียง และทำให้เกิดความสนุก แต่ก็ควรระมัดระวัง เมื่อรู้สึกคอแห้งมากก็ไม่ควรตะโกนต่อไป เพราะจะทำให้สายเสียงอักเสบตามมาได้
- การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสายเสียงอักเสบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงจากการสูบบุหรี่ หรือพยายามสูบให้น้อยลงหรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ (กรณีไม่ได้สูบ) เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดสายเสียงอักเสบ
- ผู้ป่วยที่มีการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก  ไซนัสหรือมีหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ก็สามารถทำให้สายเสียงอักเสบเรื้อรังได้   การไอบ่อย ๆ ทำให้สายเสียงกระแทกกัน และเชื้อโรคที่อยู่ภายในเสมหะที่ไอออกมาอาจผ่านสายเสียงออกสู่ภายนอก ทั้งการไอและทั้งเชื้อโรคในเสมหะอาจทำให้สายเสียงอักเสบได้

                เพียงเท่านี้……..สายเสียงของเราก็ห่างไกลจากการอักเสบแล้วละครับ

_______________________________________________________________________________________

Last update: 12 มีนาคม 2553